xs
xsm
sm
md
lg

“ศศิธารา” ดิ้นสู้ จ่อฟ้อง อ.ก.พ.สกศ.อ้างระเบียบ ก.คลัง ว 72 เอาผิดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศศิธารา” จ่อฟ้อง อ.ก.พ.สกศ.ที่ลงมติปลดออกจากราชการ ทั้งทางแพ่งและอาญา พร้อมเตรียมร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ยืนยันไม่สามารถอ้าง ระเบียบกระทรวงการคลัง ว 72 มาตั้งโทษผิดวินัยร้ายแรงกับตนได้ อ้าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รัฐมนตรีรักษาการไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายได้
 น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์
จากกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2557 เพื่อหาข้อยุติในการสอบวินัยร้ายแรง น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรณีเอกสารจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) สูญหายและส่อว่าอาจมีความไม่โปร่งใส่ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยที่ประชุมได้พิจารณามีมติเสียงส่วนใหญ่ 6:2 ให้ปลด น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ออกจากราชการ

วันที่ (26 ก.พ.) น.ส.ศศิธารา ชี้แจงว่า การถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงนี้ เป็นเรื่องเอกสารประกวดราคาของอาชีวะสูญหาย แต่ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง โดยไม่ดำเนินการตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค.0526.7/ว72 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2541 อาจมีผลทำให้ราชการเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ในคำสั่งเขียนว่าสอบวินัยร้ายแรงเพราะว่าอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าครุภัณฑ์แก่ผู้ขาย ทั้งที่เอกสารหายและยังไม่ได้ดำเนินการตามหนังสือระเบียบกระทรวงการคลัง ที่ กค.0526.7/ว72 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเรื่องของขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเกิดกรณีเอกสารสูญหายหลังการเบิกจ่ายเงิน แต่ไม่มีระเบียบปฏิบัติกรณีเอกสารสูญหายก่อนการเบิกจ่ายเงิน ในประเด็นนี้จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบและนำไปสู่ความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงได้ แต่ก็ยังมีความพยายามนำเรื่องไปโยงกับเรื่องอื่น ซึ่งอยู่นอกเหนือคำสั่ง เช่น อ้างว่าครุภัณฑ์ที่จัดซื้อในคราวนั้น มีราคาแพงกว่าท้องตลาด ซึ่งตามระเบียบของทางราชการแล้ว ไม่สามารถไปสอบสวนและสรุปผลในประเด็นอื่นนอกเหนือคำสั่งเดิมได้

“ ระเบียบกระทรวงฉบับดังกล่าว มีขึ้นก็เพราะส่วนราชการต่างๆ มักประสบปัญหาทำเอกสารสูญหายหลังการเบิกจ่ายเงินโดยสำนักงานตรวจเงินยังมิได้ทำการตรวจสอบ เมื่อเอกสารหายไปจะทำอย่างไร จะเอาอะไรให้แทน เขาก็บอกว่าใช้สำเนาแทนได้ในกรณีที่เอกสารไม่สำคัญ แล้วก็ให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและสอบสวนให้เรียบร้อย เมื่อสอบสวนแล้วให้นำผลนั้นมาประกอบกัน โดยใน ว.72 ก็ระบุว่าถ้าไม่ทำตามระเบียบนี้ ถือว่าผิดวินัยร้ายแรง เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้คือพยายามโยงว่าดิฉันไม่ทำตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่ก็ได้ดำเนินการแล้วเช่นนั้นจะกล่าวหาไม่ได้ว่าดิฉันทำผิดวินัยร้ายแรง” น.ส.ศศิธารา กล่าว

น.ส.ศศิธารา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนการสอบวินัยตนก็ไม่ถูกต้อง ไม่มีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเสียก่อน หรือหลังจากที่ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง โดยปกติแล้ว ก็จะต้องแจ้งคำสั่ง แจ้ง สว.3 สว.4 สว.6 ว่าผิดอย่างไร ผิดเรื่องอะไร และให้แก้ข้อกล่าวหาก็จะมีเวลาไว้ให้เสร็จว่ากี่วัน เสร็จแล้วต้องนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวง นี่แต่ละขั้นตอนไม่ได้ตรงตามนั้นเลย ดังนั้น ในเรื่องนี้ตนจึงไปแจ้งความไว้เรียบร้อยแล้ว และฟ้องศาลอาญา ทั้งตัวผู้ออกคำสั่งโดยมิชอบ และคณะกรรมการสอบสวน

“การออกคำสั่ง ออกไม่ชอบ กระบวนการสอบสวนก็ไม่ชอบ แต่ก็มีการสอบสวนกันมาเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าคำสั่งชอบหรือไม่ชอบ วิธีปฏิบัติถูกหรือไม่ นอกจากนั้น ในเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจ้งข้อกล่าวหา ก็ถามมาให้ตอบแต่เพียงเรื่องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังหรือเปล่า ดำเนินการอย่างไร ดิฉันก็ตอบไปเพียงแค่นี้ แต่ปรากฏว่าในการประชุม อ.ก.พ.สกศ.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ใช้เวลาพิจารณากัน 10 ชม.นั้น กลับให้ไปสอบสวนเพิ่มเติมอีกประเด็นว่าขอบเขตงาน หรือ TOR ที่ประกาศประกวดราคาและ TOR แนบสัญญาตอนตรวจรับครุภัณฑ์ มีความแตกต่างกันจนก่อให้เกิดความเสียหายมากมายเท่าไร และการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่เอกสารสูญหายนี้ทำผิดระเบียบกระทรวงการคลังหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ตอบมาแล้วว่าไม่มีระเบียบปฏิบัติในกรณีเอกสารสูญหายก่อนการเบิกจ่าย เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าเขาผิดระเบียบนั้นไม่ได้ จึงเป็นจุดหนึ่งที่กรรมการบางคนไม่เห็นด้วยกับการลงโทษให้ปลดออก เพราะเมื่อไม่มีระเบียบจึงไปบอกว่าเขาผิดวินัยร้ายแรงไม่ได้”น.ส.ศศิธารา กล่าว

น.ส.ศศิธารา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเกิดความเสียหายต่อทางราชการนั้น การที่ทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯนำ TOR ไปให้หน่วยงานอื่นประเมินราคาว่า ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อราคาแพงกว่า ราคาท้องตลาดนั้น ประเด็นเป็นคนละเรื่องกับกรณีเอกสารสูญหายซึ่งจะต้องไปตั้งกรรมการสอบสวนใหม่แยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะต้องไม่ใช่กรรมการชุดเดิมด้วย เพราะถ้าเป็นกรรมการชุดเดิมเขามีสิทธิ์ฟ้องว่ากลั่นแกล้งเขา เพราะเอากรรมการชุดเดิมมาสอบ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถนำประเด็นนี้มาสรุปว่า ตนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องนี้มีความพยายามที่จะกลั่นแกล้งอย่างชัดเจน เช่น ให้มีการจัดทำรายงานการประชุมปลอม ซึ่งตนได้แจ้งความให้ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว มีการให้ข้อมูลในทางลบแก่กรรมการที่จะมาเข้าประชุม เพราะทราบดีว่าองค์ประกอบของการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงจะต้องมี 3 ส่วน คือ อนุกรรมการโดยตำแหน่ง อนุกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง อนุกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในการประชุมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ครบ

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า รัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีรักษาการ ไม่สามารถใช้อำนาจแต่ตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง เงินเดือนประจำ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ดังนั้น รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ จึงไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ และได้ทราบว่าผลสรุปน่าจะเป็นความรับผิดชอบของอนุกรรมการผู้ลงมติเห็นชอบ ซึ่งจะได้ดำเนินการตามกฏหมายต่อไป และหลังจากนี้จะไปร้องทุกข์กับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ฟ้องศาลปกครอง และฟ้อง อ.ก.พ.สกศ.ที่ลงคะแนนปลดตนออกจากราชการทั้ง 6 คน ทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย

นางศศิธารา กล่าวยืนยันด้วยว่า ในการเบิกจ่ายเงินนั้นเอกสารสำคัญตัวจริงยังอยู่ โดยตามระเบียบกระทรวงการคลังเอกสารสำคัญที่สูญหายไม่ได้ คือ หนังสือสัญญา และขอบเขตงาน หรือ TOR กำหนดคุณลักษณะ ผลการตรวจรับครุภัณฑ์ ซึ่งเคยถามกรมบัญชีกลางไปก็ยันยันว่าทั้งหมดนี้ต้องมีซึ่งเราก็มีครบ อย่างไรก็ตาม เอกสารที่สูญหายไปมี 4 รายการ คือ รายงานขอความเห็นชอบจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์, เอกสารประกวดราคา, บันทึกส่งเอกสารโฆษณา 5 หน่วยงานประชาสัมพันธ์ และขอบเขตงาน หรือ TOR ส่วนเอกสารที่ยังอยู่ครบ อาทิ ต้นฉบับสัญญา 21 ฉบับ เอกสาร ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคา, คณะกรรมการดำเนินงาน, ประกาศเชิญชวน, คุณลักษณะสเปกเฉพาะครุภัณฑ์, สรุปคณะกรรมการพิจารณาซอง, สรุปคณะกรรมการเสนอราคา, ประกาศผู้ชนะจัดซื้อจัดจ้าง และเอกสารอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างโดยเลขาธิการ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น