โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) หรือ เรื้อนมูลนก ในทางการแพทย์แผนไทยเกิดจากเลือดและน้ำเหลืองที่ผิดปกติ ทำให้น้ำเหลืองเสีย ส่งผลให้แสดงอาการเป็นผื่นที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีรอยผุดขึ้นเป็นแว่น เป็นวง ตามผิวหนัง เล็กบ้างใหญ่บ้าง มีสีขาว มีขอบนูนเล็กน้อย และมีอาการคันร่วมด้วย เมื่อนานเข้าจะลามไปทั่วร่างกาย
โรคสะเก็ดเงิน จัดว่าเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ที่พบเจอได้บ่อยมักมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้หรือมีสาเหตุจากพันธุกรรมนั่นเอง และการรักษาแผนปัจจุบันมักเป็นเพียงการให้ยาเพื่อไม่ให้อาการกำเริบ แต่ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ได้มีมุมมองการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างลึกซึ้งไปถึงพื้นฐานของโรค มีการวิเคราะห์มูลเหตุการเกิดโรค ลักษณะอาการ และมีการแยกตามลักษณะหรือธาตุประจำตัวผู้ป่วยร่วมด้วย เพื่อใช้ในการตั้งตำรับยาอย่างตรงจุด และช่วยปรับสมดุลต่างๆ ของร่างกายให้ดีขึ้น และรักษาอาการของโรคสะเก็ดเงินไปพร้อมกัน โดยยาสมุนไพรส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นกลุ่มยาบำรุงและระบายน้ำเหลืองเสีย โดยมีทั้งยาต้ม ยาอาบ ยาแช่ และยาน้ำมันทาภายนอกแก้คัน
อาการเริ่มต้นของโรคนี้ คือ จะมีอาการคันที่หนังศีรษะ มีสะเก็ดคล้ายรังแคแต่มีขนาดใหญ่กว่า และเป็นเรื้อรัง ใช้แชมพูขจัดรังแคก็ไม่หาย หรือมีสะเก็ดสีขาวขึ้นตามข้อศอก ข้อพับต่างๆ มีอาการกำเริบมากในช่วงที่อาการแห้ง หรืออากาศเย็น เมื่อไม่ได้รับการรักษา โรคจะลามเข้าเล็บทำให้เล็บเหลือง เป็นคลื่น คล้ายดอกเล็บสีขาวแต่มีขนาดใหญ่กว่า คล้ายกับมีเชื้อราที่เล็บ ถ้าเป็นเรื้อรัง หรือรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับการรับประทานของแสลงอยู่เรื่อยๆ จะทำให้อาการของสะเก็ดเงินล่ามเข้าไปในข้อ เข้ากระดูก ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดตามข้อ ตามกระดูก นานเข้าก็จะทำให้เกิดอาการข้อผิดรูป หงิก งอ โดยเฉพาะข้อมือ ข้อเท้า
การรักษา
ใช้ยาต้มสมุนไพร ที่มีรสเมาเบื่อ เพื่อแก้น้ำเหลืองเสีย แก้พิษโลหิต และใช้ยาทา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก้ผิว พวกน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น กลีเซอรีน หรือโลชั่นบำรุงผิว (แต่ต้องทามากกว่าปกติ 2-3 เท่า) ที่สำคัญผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องมาพบแพทย์แผนไทยก่อน เพื่อทำการประเมินและแยกโรค และจ่ายยาให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน
โดยการประเมินผู้ป่วยนั้นจะประเมินจาก
1.ลักษณะความสุขสบาย ภาวะความเครียด ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จากการซักประวัติ และสังเกตบุคลิก อารมณ์ สีหน้า ฯลฯ
2.ลักษณะของผิวหนัง เช่น ผื่น สีผิว ความร้อน-เย็น ตำแหน่งของผื่น
3.ลักษณะของเล็บ ซึ่งมักจะพบลักษณะเล็บของผู้ป่วยผิดปกติ เช่น เป็น Oil Drop (ลักษณะเล็บเป็นคลื่นขรุขระ)
4.ลักษณะของการขับถ่าย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีภาวะท้องผูกร่วมด้วย
อาการแสดงของโรคสะเก็ดเงิน แบ่งออกเป็น
1.ผิวหนังชื้น ลอก แดง เป็นลักษณะที่แสดงถึงภาวะความผิดปกติของน้ำเหลือง ซึ่งต้องจ่ายยาในกลุ่มของน้ำเหลืองเป็นหลัก เช่น ข้าวเย็นทั้งสอง, เปลือกขันทองพยาบาท, เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
2.ผิวหนังแห้ง ขุย ล่อน เป็นลักษณะที่แสดงถึงภาวะความผิดปกติของโลหิต ต้องจ่ายยาในกลุ่มบำรุงเลือด เช่น ฝาง, คำฝอย, คำไทย เป็นต้น
ข้อห้ามและข้อควรระวังของผู้ป่วยสะเก็ดเงิน
1.งดอาหารแสลง (ห้ามรับประทานเด็ดขาด) อาทิ ปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก ปลาไหล ปลากราย เพราะเมือกและความคาวของปลาจะทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้น และจะทำมีอาการคันมากขึ้นด้วย ปลาครีบแข็ง เช่น ปลาหมอ ปลานิล ของหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ อาหารรสจัด อาหารรสมันจัด หวานจัด เค็มจัด อาหารทะเล
2.หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเครียด
3.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
จากประสบการณ์การรักษาที่ผ่านมากว่า 4 ปี ของร้านยาไทยโพธิ์เงินโอสถ อภัยภูเบศร พบว่า ผู้ป่วยมีอาการค่อยๆ ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ แต่ทั้งนี้ ต้องควบคู่ไปกับการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี การงดอาหารแสลง ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้และด้วยทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เล็งเห็นว่าโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพและมีผลกระทบต่อคนไทยเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทำการเปิดคลินิกพิเศษโรคสะเก็ดเงินภายในงานการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลขึ้น เพื่อขยายช่องทางการรับบริการ โดยปัจจุบันผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ 2 ช่องทาง คือ ที่ร้านยาไทยโพธิ์เงินโอสถ อภัยภูเบศร และที่งานการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น.(เฉพาะวันทำการ จันทร์-ศุกร์) โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ร้านยาไทยโพธิ์เงินโอสถ อภัยภูเบศร 087-582-0597 และงานการแพทย์แผนไทย 085-391-2255