xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนประชาชน ห้ามบริโภค “ดองดึง” อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! ต้นดองดึง เป็นพืชที่มีดอกสวยแต่มีพิษอันตรายถึงชีวิตภายใน 3-20 ชั่วโมง ห้ามบริโภคเด็ดขาด แนะไม่ควรปลูกพืชมีพิษใกล้ผักสวนครัว อาจเก็บผิดพลาดได้ ล่าสุดพบเสียชีวิต 1 รายที่ จ.ศรีสะเกษ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาอาหารเป็นพิษ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบมีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการรับประทานลูกดองดึง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 63 ปี อาศัยอยู่ที่ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โดยรับประทานผลดองดึง 2 ผล ที่นำมานึ่งรวมกับปลานิล มีอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียนหลายครั้ง ปวดบิดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวปริมาณมาก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในอีก 1 วันต่อมา ผลการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าผู้ที่เก็บผลดองดึงไปปรุงอาหารไม่รู้จักพืชดองดึง และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลของต้นสลิด ซึ่งปลูกติดกับต้นดองดึง และเลื้อยพันกัน ในปี 2548 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากกินใบดองดึงต้ม 1 ราย ที่ จ.ชัยภูมิ

ทั้งนี้ ต้นดองดึงเป็นพืชที่มีพิษอยู่ในทุกส่วน ทั้งผลอ่อน-ผลแก่-เมล็ด-ใบ-หัว-ราก-ลำต้น หากรับประทานผลอ่อนของดองดึงเพียง 1 ผล หรือเมล็ดเพียง 1 เม็ด หลังรับประทานไปแล้ว 2-6 ชั่วโมง จะรู้สึกแสบร้อนในปาก ลำคอเหมือนเป็นโรคกระเพาะ รายที่อาการรุนแรง มีอาการคอแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปากและผิวหนังชา คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง อุจจาระมีเลือดปน มีเลือดออกภายในร่างกาย ปวดบิดท้อง หายใจลำบาก เนื่องจากขาดออกซิเจน กลืนไม่ลง ชัก หมดสติ ช็อกจากการเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย มีภาวะไตวายอาจเสียชีวิตภายใน 3-20 ชั่วโมง ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นหากสงสัยว่ารับประทานพืชพิษ ให้ผู้ป่วยกินไข่ขาวหรือดื่มนมทันที ให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียาต้านพิษของดองดึง

สธ.ขอย้ำเตือนประชาชนอย่ารับประทานพืชที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจ และไม่ควรปลูกต้นดองดึง หรือพืชที่รับประทานไม่ได้ ในบริเวณบ้านหรือปลูกปะปนกับผักสวนครัวที่เป็นไม้เลื้อยคล้ายกัน เช่น เถาสลิด เถาตำลึง เถามะระ ทำให้แยกได้ยาก และประชาชนควรช่วยกันสอนหรือถ่ายทอดความรู้พืชมีพิษต่างๆ ที่มีในท้องถิ่นให้ลูกหลานรู้จัก หากมีพืชชนิดนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียน ควรล้อมรั้วปักป้ายชื่อของพืชและอันตรายให้นักเรียนรู้จัก เพื่อไม่นำมาบริโภค

ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ดองดึงมีชื่อเรียกภาษาถิ่นหลายชื่อคือ ดาวดึงส์ ดองดึง หัวขวาน หัวฟาน พันมหา ก้ามปู ต้นไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้เถา มีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกคล้ายกับหัวขวาน หรือฝักกระจับ สีสวยสะดุดตา พืชชนิดนี้จัดเป็นเครื่องยาในตำรับยาแผนไทยหลายขนาน ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้านแผนไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่น ตำรับยากษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย เป็นต้น แต่การใช้ต้องใช้โดยผู้ที่มีความรู้เท่านั้น และใช้อย่างระมัดระวัง โดยสรรพคุณทางด้านแพทย์แผนไทย มีดังนี้ หัวมีรสร้อน เมา แก้โรคเรื้อน แก้แมลงสัตว์กัดต่อย หัวสดตำพอกหัวเข่า แก้ปวดข้อ แก้ปวดกล้ามเนื้อ ฟกบวม

ในเหง้าและเมล็ดของดองดึงจะมีสารอัลคาลอยด์หลายชนิด เช่น โคลชิซีน (colchicines), สารกลอริโอซีน (gloriosine), สารซุปเปอร์บีน (superbine) ที่มีพิษอันตรายถึงเสียชีวิตได้ โดยมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะสารโคลชิซีน เป็นสารที่มีพิษต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ และมีคุณสมบัติในการแบ่งเซลล์ ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันนำสารโคลชิซีนจากดองดึง มารักษาโรคเกาต์ และมะเร็งบางชนิดได้ โดยพิษจากการใช้สารชนิดนี้ มีอาการเจ็บปวดตามตัวเหมือนถูกเข็มแทงปาก และผิวหนังชา คลื่นไส้รุนแรง ตามด้วยท้องเสีย มีเลือดปน หายใจลำบาก อาจเสียชีวิตได้ใน 3-20 ชั่วโมง

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยข้อมูลการใช้ดองดึงในต่างประเทศพบว่า อินเดียมีการใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น ใช้ยางจากปลายใบ รักษาสิว ผงที่ได้จากหัวผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้รักษาโรคผิวหนัง หรือถูกงูกัดและแมงป่องกัด หรือผสมน้ำทาศีรษะคนหัวล้าน ใช้น้ำคั้นจากใบรักษาเหา ส่วนหัวใช้รักษาอาการช้ำบวมและเคล็ดขัดยอกต่างๆ ที่แอฟริกามีการใช้น้ำต้มจากใบดองดึง นำไปทาแก้ไอ แก้ปวด บรรเทาอาการคัดจมูก ใช้สูดดมแก้แพ้


กำลังโหลดความคิดเห็น