ไก่เนื้อดำ หรือไก่กระดูกดำ (Black-bone chicken) เป็นสัตว์ปีกที่นิยมบริโภคในหมู่ชาวจีนมาช้านานจวบจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่า ถ้านำมาผ่านการปรุงอาหารแบบวิธีโบราณจะช่วยบำรุงสุขภาพ และรักษาโรคต่างๆ ได้
และด้วยเหตุนี้เอง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ดำเพื่อบริโภคภายในครอบครัว และเหลือจากนั้นจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่เนื่องด้วยไก่ดำที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนครมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย อีกทั้งยังไม่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงเชิงการค้า
ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้มอบหมายให้ “อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์” สังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร พัฒนาสายพันธุ์ไก่กระดูกดำให้มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงในแบบเชิงการค้าเพื่อให้ผู้ที่สนใจ และเกษตรกรสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ครัวเรือน
อาจารย์ภานุวัฒน์กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ไก่กระดูกดำในครั้งนี้ เราได้มีการสร้างสายพันธุ์จากการรวบรวมพ่อ-แม่พันธุ์ ตั้งต้นมาจากแหล่งที่มีการเลี้ยงไก่กระดูกดำทั่วประเทศ โดยนำมาผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ลักษณะที่ตรงตามความต้องการของตลาดผู้เลี้ยง และผู้บริโภคไก่กระดูกดำ อีกทั้งยังเหมาะต่อการเลี้ยงในรูปแบบเชิงการค้า รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ในครั้งนี้เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย
ทั้งนี้ สายพันธุ์ไก่กระดูกดำที่ได้จากงานวิจัยในครั้งนี้รู้จักกันในชื่อสายพันธุ์ไก่ดำ “เคยู-ภูพาน” เป็นไก่ดำมองโกเลีย คัดเลือก DNA ขนสีขาว เนื้อดำ หนังดำ กระดูกดำ หงอนดำ มีลักษณะที่โดดเด่น แตกต่างจากไก่ดำที่เลี้ยงทั่วไป คือ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนร้อน ทนโรค ทนสภาพแวดล้อม ทำให้สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ที่สำคัญระยะเวลาในการเลี้ยงเพียงแค่ 3 เดือน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 4-5 เดือน ช่วยประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงได้มากกว่าไก่ดำทั่วไปถึงกว่า 30% เหมาะแก่การเลี้ยงเชิงการค้าเป็นอย่างมาก
สำหรับไก่ดำ เคยู-ภูพาน ได้มีการเพาะพันธุ์ลูกเจี๊ยบออกมาจำหน่ายแล้วในราคาตัวละ 30 บาท ถึง 35 บาท ซึ่งตอนนี้ ได้มีการจำหน่ายแก่กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายจำนวน 30 กลุ่มทั่วประเทศก่อน คาดว่าไก่ดำเคยู-ภูพาน น่าจะสามารถนำออกมาจำหน่ายเป็นเนื้อไก่ได้ประมาณปี พ.ศ. 2557 ส่วนราคาเนื้อไก่ดำปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท โดยราคาไก่ดำเคยู-ภูพาน ราคาจะสูงกว่าไก่ดำทั่วไปประมาณ 50 บาท ด้านรสชาติใกล้เคียงกับไก่ดำทั่วไป
ทั้งนี้ ที่ไก่กระดูกดำได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากผลงานวิจัยทางการแพทย์จีน ที่ปรากฏว่าสีดำที่ปรากฏในเนื้อ และกระดูกนั้นเป็นผลมาจากการทำงานของสารเมลานิน (melanin) ซึ่งพบว่าทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน และเมื่อรับประทานไก่ดำเข้าไปจะช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันไก่ดำเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มของคนรักษ์สุขภาพทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โทร. 08-1670-7743
---------------------
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *