xs
xsm
sm
md
lg

ออกพรรษา“แห่ปราสาทผึ้ง” ประเพณีเปี่ยมศรัทธาแห่งสกลนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพประกอบจาก ททท.)
จังหวัดสกลนคร ร่วมกับเทศบาลนครสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัด”งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งเรือยาว จังหวัดสกลนคร” ในระหว่างวันที่ 15 - 19 ตุลาคม 2556 ณ สนามมิ่งเมืองสกลนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ และวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อมุ่งปรารถนาที่จะถวายปัจจัยเป็นพุทธบูชา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม (รับผิดชอบพื้นที่ นครพนม,มุกดาหาร,สกลนคร) กล่าวว่า ชาวสกลนครได้ถือปฏิบัติตามฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือนเหมือนชาวอีสานทั่วไป โดยเฉพาะประเพณีออกพรรษาหรือบุญออกพรรษา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีการจุดไต้ประทีป ปล่อยเรือไฟ แข่งเรือ และที่สำคัญคือ การแห่ปราสาทผึ้งซึ่งถือเป็นจุดเด่นของงานประเพณีออกพรรษาที่จังหวัดสกลนครประวัติความเป็นมาและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีนั้น มีหลายสำนวนความเชื่อด้วยกัน ความเชื่อที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา ในครั้งนั้นพุทธศาสนิกชนต่างประหวั่นวิตกเป็นอย่างมาก เกรงว่าพระพุทธเจ้าปลีกวิเวกครั้งนี้จะไม่กลับมา จึงพากันไปเฝ้าถามพระโมคคัลลานะและพระอนุรุทธ จึงทราบความว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับมาในวันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณา คือ วันที่ 15 ค่ำ เดือน 11 ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร

พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้ตั้งใจจะรอจนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากเทวโลก เมื่อถึงวันออกพรรษา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้แสดงลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยมีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาตามเสด็จลงมาส่งผ่านบันไดแก้ว บันไดเงินและบันไดทอง จนถึงโลกมนุษย์ ในครั้งนั้นชาวเมืองสังกัสสะและพุทธศาสนิกชนที่เฝ้ารอพระพุทธองค์มาถึงหนึ่งพรรษาต่างมาร่วมกันทำบุญใส่บาตรกันอย่างยิ่งใหญ่ และได้เห็นปราสาทต่างๆ ที่งดงามวิจิตรพิสดารอันเป็นของเทวดาบนสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พุทธศาสนิกชนชาวสกลนครเชื่อกันว่า การที่จะได้ไปอยู่ปราสาทอันสวยงามนั้นต้องสร้างบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักศีลธรรมอันดี ทำบุญตักบาตร สร้างปราสาทกองบุญนั้นในเมืองมนุษย์เสียก่อนจึงจะได้ไป จากนั้นเป็นต้นมาจึงพากันคิดสร้างสรรค์ทำบุญปราสาทให้มีรูปร่างเหมือนวิมารบนสวรรค์ทำบุญกันในวันออกพรรษา เพื่อเป็นการสร้างกุศลให้ตนได้ไปอยู่ในปราสาทที่งดงามหลังจากที่ตนตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่กล่าวว่า การสร้างปราสาทผึ้งดังกล่าวเพื่อสำหรับเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังโลกมนุษย์ด้วยเช่นกัน
(ภาพประกอบจาก ททท.)
เหตุที่มีการนำเอาขี้ผึ้งมาทำเป็นปราสาทนั้น ยึดโยงอยู่กับพุทธประวัติในช่วงพรรษที่ 9 ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ดงไม้สาละใหญ่ในป่าปาลิไลยก์ ในครั้งนั้นมีช้างปาลิไลยก์กับลิงเป็นผู้อุปัฏฐากอยู่ตลอด 3 เดือน โดยช้างจัดน้ำและผลไม้มาถวาย ส่วนลิงหารวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงรับแล้วเสวย ลิงเห็นก็ดีใจมากขึ้นไปจับกิ่งไม้เขย่าด้วยคงวามดีใจ จนบังเอิญกิ่งไม้หัก ลิงนั้นตกลงมาถูกตอเสียบอกตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนปราสาทวิมารในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้งต่อมาพระพุทธเจ้าตรัสลาช้างแล้วเสด็จเข้าสู่เมืองโกสัมพีในวันออกพรรษา ทำให้ช้างระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากจนทำให้หัวใจแตกสลาย จึงได้ไปเกิดบนปราสาทวิมานบนสวรรค์ พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงคุณความดีของช้างและลิง จึงทรงนำเอารวงผึ้งมาทำเป็นดอกประดับในโครงปราสาทตามจินตนาการเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างและลิง ด้วยเหตุนี้ในกาลต่อมาพุทธศาสนิกชนจึงได้ถือเป็นแนวทางจัดสร้างปราสาทผึ้ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลสืบมา

ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญในงาน ได้แก่ การประกวดปราสาทผึ้งประยุกต์ – โบราณ การตกแต่งรถปราสาทผึ้ง ขบวนอันเชิญถ้วยพระราชทานและการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน พิธีทำบุญตักบาตร พิธีบายศรีสู่ขวัญ การประกวดพานบายศรี เทศกาลของดีของแซบเมืองสกลนคร การวิ่งแข่งมินิมาราธอน “ครอบครัวผาแดง-นางไอ่” นิทรรศการปราสาทผึ้ง การจำหน่ายสินค้า OTOP สวนสนุกและการแสดงคอนเสิร์ต และในวันที่ 18 ต.ค. 2556 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ชมขบวนแห่ปราสาทผึ้งประยุกต์ – โบราณ การตกแต่งรถปราสาทผึ้งและขบวนวิถีชีวิต 13 ขบวน พร้อมการแสดงแสง สี เสียง ไปตามถนนเพื่อเข้าสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พร้อมร่วมพิธีถวายปราสาทผึ้งโบราณ ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร รูปแบบของปราสาทผึ้งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ แบบทรงพระธาตุ ทรงหอผี ทรงบุษบก และทรงจัตรมุข ซึ่งแต่ละแบบมีพัฒนาการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยสร้างในลักษณะอาคารจำลองที่ตกแต่งด้วยลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดสกลนคร โทร.0-4271-1763 หรือเทศบาลนครสกลนคร โทร.0-42 71-1203 ต่อ 1000-1001 หรือติดต่อได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม (รับผิดชอบพื้นที่ นครพนม,มุกดาหาร,สกลนคร) เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. โทร.0-4251-3490-1
กำลังโหลดความคิดเห็น