ในหลายพื้นที่ของเมืองไทย มีจุดเด่นของดีเฉพาะตัว ทว่า ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ หน่วยงานภาคการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลักดันวิสาหกิจชุมชนการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น ผ่าน 3 ขั้นตอน โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนา คือ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ. ดำเนินงานร่วมกับ สวทช. และเครือข่ายในการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยหลักการพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองของชาวชนบท 3 สเต็ป คือ
1.การสร้างความแข็งแรงให้ชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2.การส่งเสริมหรือการสร้างเสริมให้ชาวบ้านมีการทำมาหากินที่สอดคล้องกับสภาพสังคมภูมิประเทศ และ 3. การพัฒนาโดยอาศัยชาวบ้านแนะนำประโยชน์ให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสูงสุด ซึ่งในการดำเนินงาน สเต็ปแรก สามารถทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่มและสุขอนามัย แต่ใน สเต็ปที่สอง เป็นงานที่ยากขึ้นเพราะต้องทำให้ชาวบ้านมีอาชีพสามารถเลี้ยงตัวเอง เพราะลำพังแค่การปลูกข้าวและล่าสัตว์คงไม่พอที่จะทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ถ้าจะทำให้ชาวบ้านเลี้ยงตัวเองได้ก็ต้องทำให้เค้ามีรายได้เราจึงส่งเสริมให้เค้ามีการปลูกพืชหลังนา เช่น มะเขือเทศเพราะในอดีตไทยนำเข้ามะเขือเทศมาจากไต้หวัน และเรายังสอนให้ชาวบ้านรู้จักการทำมะเขือเทศเข้มข้นด้วยการระเหยน้ำออกเพื่อส่งไปขายให้โรงงานปลากระป๋อง และด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นโรงงานหลวงขึ้นเพื่อนำผลผลิตจากชาวบ้านสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปเมื่อปี 2525 โดย มจธ. ได้นำความรู้ทางวิศวกรรมเข้าไปก่อสร้างโรงงานนำความรู้ไปให้ชาวบ้านและก่อให้เกิดอาชีพช่างขึ้นมาในชุมชน แต่ที่สำคัญคือเรานำพืชเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมะเขือเทศ กระเจี๊ยบแดง หม่อน เสาวรส และข้าวโพดฝักอ่อน มาเป็นตัวพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต ข้อดีของอุตสาหกรรมเกษตรคือ ทำให้ชาวบ้านรู้จักกับพืชที่เค้าปลูกอย่างลึกซึ้ง ปลูกอะไร ปลูกยังไง ขั้นตอนแบบไหน และคุณภาพต้องเป็นอย่างไร ชาวบ้านเองจะรู้จักวางแผนการปลูกเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับส่งเข้าโรงงานอย่างสม่ำเสมอและไม่สูญเสียผลประโยชน์ ในสเต็ปสุดท้ายที่ยากและท้าทายก็คือการทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีโรงงานเป็นของตัวเอง”
รศ.ดร. ศักรินทร์ กล่าวต่อว่าปัจจุบันดำเนินงานมาถึง สเต็ปที่สาม คือ พยายามช่วยให้เกิดวิสาหกิจชุมชน แต่ปัญหาคือตอนนี้ชุมชนยังไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งพอที่จะพากลุ่มก้าวไปสู่การพัฒนาตัวเองต่อไปได้ การที่จะทำให้ชุมชนก้าวสู่วิสาหกิจชุมชนได้นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องเริ่มจากการทำงานแบบเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นเพื่อนกับชุมชนและสิ่งที่จะให้ชาวบ้านได้คือเครื่องมือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้และโอกาส
“เราทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการความรู้ พยายามให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรามีเป็นกลไกในการสร้างวิสาหกิจชุมชน และสิ่งที่เราพยายามทำคือ บอกให้เค้ารู้ว่าเรามีความรู้อะไรและถ้าเค้าอยากทำเราก็จะนำองค์ความรู้มาให้แต่จะไม่ยัดเยียด วิสาหกิจชุมชนจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ รู้จักนำของดีจากนอกชุมชนเข้ามาปรับใช้และพัฒนาต่อได้ วิสาหกิจจะทำให้ชาวบ้านมีความสุขขึ้นเพราะเค้าจะได้ค่าตอบแทนจากการทำงานหนัก แต่พวกเราไม่ใช่นักธุรกิจเราทำได้เพียงเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการและหากลุ่มธุรกิจเข้ามารองรับผลิตผลจากชาวบ้านเพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง
อย่างไรก็ตามวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโรงงาน แต่ต้องเข้าใจระบบตลาดดีขึ้น เข้าใจวิถีการพัฒนา หรือสามารถทำงานร่วมกับโรงงานใหญ่ได้อย่างรู้เท่าทัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับสังคมไทยคือความสำนึกรักบ้านเกิดเราจึงพยายามพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำและอยากพัฒนาชุมชนตนเองให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่แสดงชัดเจนว่าที่ผ่านมาเราทำสำเร็จคือชาวบ้านไม่ทิ้งถิ่นเข้ามาขายแรงงานในเมือง ชาวบ้านมีความรู้ มีอาชีพ มีรายได้ และสิ่งที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตดีขึ้นแน่นอน”
นอกจากนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าบทบาทสำคัญของ มจธ.และสวทช. คือเป็นเพื่อนที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้งานด้านสังคมของ มจธ. ทำให้เข้าใจบริบทของชุมชน เข้าใจขีดจำกัดของเทคโนโลยี หลายครั้งที่มีโอกาสนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยงานในชุมชน ทำให้นักศึกษาคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็นจากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของหนึ่งในนโยบาย มจธ. คือ Work Integrated Learning ความรู้ที่ได้จากชุมชนเป็นผลทำให้งานวิจัยมีคุณภาพและตอบโจทย์สังคมได้ตรงขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *