xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! แมลงประหลาดผุดจากแผลผู้ป่วย สธ.ยืนยันแค่ตัวหมัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยแมลงประหลาดผุดแผลชาวบ้านสระบุรี แค่ตัวหมัด ส่งผู้ป่วยรักษาฟรีแล้ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าหมัดบริเวณที่อยู่อาศัยแล้ว พร้อมส่ง อสม.ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องการทำความสะอาด ป้องกันหมัด

วันนี้ (7 ก.พ.) นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ตรวจราชการเขตบริการสุขภาพที่ 4 กล่าวถึงกรณีชาวบ้านหนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี จำนวน 1 ครอบครัว 3 คน ป่วยมีตุ่มคันขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขา หลายแห่ง เมื่อเกา และใช้มือแกะบริเวณบาดแผลที่คันพบแมลงสีดำ สีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กดีดตัวออกจากบาดแผล พอนำตัวแมลงใส่ภาชนะและส่องกล้องขยายดูพบมีลักษณะคล้ายตัวลูกน้ำยุงลาย ดวงตาโตเหมือนตั๊กแตน แต่ไม่มีขา เคยไปพบแพทย์แล้ว แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ ว่า ได้ให้โรงพยาบาลสระบุรีดำเนินการตรวจสอบอาการผิดปกติของผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ผลการตรวจพบว่า แมลงที่ออกจากตุ่มคันที่ผิวหนัง คือ หมัดสุนัขทั่วไปซึ่งเกาะอยู่ตามตัวผู้ป่วย ทั้งนี้ ได้ส่งตัวหมัดไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคสระบุรีพิสูจน์แล้วยืนยันว่า เป็นหมัดสุนัข ไม่ใช่แมลงประหลาดที่ชาวบ้านเข้าใจ แพทย์ได้ให้การรักษาฟรี และได้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองปลาไหล และ อสม.ทำความเข้าใจ และให้ความรู้ชาวบ้านในการดูแลความสะอาดร่างกาย และบริเวณที่พักอาศัย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหมัดสุนัข

ด้าน นพ.ชัยรัตน์ เตชะไตรศักดิ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.สระบุรี กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ จำนวน 1 ชุด ไปฉีดสารเคมีพ่นฆ่าตัวหมัดทั้งตัวแก่และไข่ที่บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยแล้ว ทั้งนี้ หมัดจัดเป็นสัตว์จำพวกแมลงที่ไม่มีปีก มีลำตัวสีแดง มีขาอยู่ 3 คู่ เมื่อขยายพันธุ์ตัวเมียจะวางไข่อยู่นอกตัวสุนัขครั้งละประมาณ 20 ใบ ไข่มักจะอยู่ตามร่อง หรือรอยแตกของพื้น และผนังบริเวณที่สุนัขอาศัยอยู่ และจะกินเลือดที่ติดมากับอุจจาระของหมัดตัวเต็มวัยเป็นอาหาร หมัดที่เป็นตัวเต็มวัยจะมีความว่องไวในการเคลื่อนไหว กระโดดได้ไกลมาก อันตรายที่เกิดจากหมัดมีทั้งทางตรง และทางอ้อม อันตรายทางตรง คือ เมื่อหมัดกัดจะปล่อยน้ำลายลงไปในชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ในตำแหน่งที่กัด ซึ่งจะพบว่าเกิดตุ่มแดง หรือผื่นแดงอักเสบ ผิวหนังที่เกิดการอักเสบจะมีลักษณะเปียก และเจ็บปวดมาก ถ้าเป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนั้นจะหนาตัว และมีสีเข้มผิดปกติ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยๆ คือ บริเวณเอว  สะโพก หน้าท้อง บริเวณขาหนีบ และลำคอ ส่วนอันตรายทางอ้อม คือ หมัดอาจนำพยาธิตัวตืดมาติดได้

“วิธีการกำจัดและควบคุมป้องกันหมัดสามารถทำได้โดยใช้สารเคมีเพื่อฆ่าหมัดบนตัวสุนัข ใส่ปลอกคอกันเห็บหมัด ใช้ยาหยดหลัง หรือใช้สารเคมีผสมน้ำอาบ หรือเป็นแชมพูอาบน้ำสุนัข หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย เช่น กรง คอก สิ่งปูรองของสุนัข เพื่อการกำจัดตัวอ่อนของหมัด” นพ.ชัยรัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น