สธ.เตือนคนเป็นโรคภูมิแพ้ ห้ามกินแมลงทอด ชี้มีสาร “ฮีสตามีน” เร่งอาการแพ้ให้กำเริบ เสี่ยงทั้งผิวหนังอักเสบ ผื่นแดง เป็นลมพิษ หอบหืด กินมากอาจถึงตาย สำหรับคนทั่วไปขอให้เลือกที่สะอาด เด็ดขา ปีก ขน ออกเรียบร้อย
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวหญิงสาวซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ใน จ.นครศรีธรรมราช กินตั๊กแตนทอดและเกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ช็อกหมดสติเสียชีวิต ซึ่งเบื้องต้นแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเพราะอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนในปริมาณที่สูงเกินกว่าร่างกายจะ รับได้ ว่า ในแมลงทอด ที่พบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอาการของผู้ป่วย เนื่องจากสารฮีสตามีนเป็นสารที่พบในอาหาร ซึ่งจะพบในปริมาณมากขึ้นในอาหารประเภทโปรตีนบางชนิดที่มีฮีสตามีนสูงและมีการปนเปื้อนแบคทีเรียในปริมาณสูง โดยเกิดจากการที่แบคทีเรียบางชนิดสามารถเปลี่ยนฮีสตาดีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโน ชนิดหนึ่งไปเป็นฮีสตามีน
แต่ร่างกายสามารถทำลายได้จนไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตามมาตรฐานกำหนดปริมาณฮีสตามีนในอาหารระดับสูงสุดของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดอาหาร โดยมีได้ตั้งแต่ 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อรับประทานแมลงทอดที่ไม่สะอาดและมีฮีสตามีนสูงจะทำให้ไปเพิ่มฮีสตามีน ในร่างกายส่งผลให้เกิดอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง เป็นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืด เป็นต้น สารฮีสตามีนดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อยจนเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และปริมาณอาหารที่ได้รับรวมทั้งช่วงเวลาที่ได้รับด้วย ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือผู้มีประวัติภูมิแพ้หรือ หอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงทอด เพราะอาจทำให้ได้รับสารฮีสตามีนปริมาณมากส่งผลให้อาการแพ้กำเริบและหากรับ ประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
“ขอเตือนประชาชนทั่วไปหากจะรับประทานแมลงทอด ควรสังเกตว่าแมลงทอดดังกล่าวเป็นแมลงที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีการนำมา รับประทานหรือไม่ และควรเป็นแมลงที่จับมาแล้วมีการเก็บรักษาในตู้แช่เย็นก่อนนำมาปรุงเป็น อาหาร เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนเปลี่ยนฮีสตาดีนเป็นฮีสตามีน ส่วนปีก ขน ขาหรือหนามแข็งของแมลง ควรจะเด็ดทิ้งก่อนรับประทานเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องปัญหาน้ำมันทอดซ้ำด้วย เพราะการใช้น้ำมันที่ทอดหลายๆ ครั้งทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ จึงขอให้สังเกตน้ำมันที่ใช้ทอดว่ามีกลิ่นเหม็นหืน เหนียว สีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ และเวลาทอดมีควันขึ้นมากแสดงว่าน้ำมันใช้มานานทำให้น้ำมันเกิดควันที่ อุณหภูมิต่ำลง อาหารอมน้ำมันและหลังการบริโภคเกิดการระคายคอ