xs
xsm
sm
md
lg

“ท่าสองยาง จ.ตาก” มาลาเรียระบาดมากสุดในไทย คร.เดิน 4 มาตรการป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พบมาลาเรียระบาดมากที่สุดในไทย กรมควบคุมโรคเร่งเดินหน้า 4 มาตรการ ทั้งตรวจเลือดค้นหาผู้ป่วยฟรี พ่นสารเคมีในบ้าน แจกมุ้ง แจกยาทากันยุงกัด พร้อมทั้งศึกษาสายพันธุ์ยุงก้นปล่อง พฤติกรรมออกหากิน เชื่อลดได้สำเร็จช่วยประเทศไทยปลอดโรค
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมาลาเรียในไทยยังเป็นปัญหาในพื้นที่ป่าเขา และตามแนวชายแดน เมื่อป่วยแล้วหากรักษาไม่ทันเวลา อาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานผลการเฝ้าระวังโรคในปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 1-26 ม.ค.พบผู้ป่วย 288 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผู้ป่วยร้อยละ 51 เป็นเกษตรกร อยู่ในวัยแรงงาน จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ตาก ยะลา ระนอง อุบลราชธานี และตราด สาเหตุเกิดจากยุงก้นปล่องกัด ซึ่งเป็นยุงอาศัยในป่า การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียที่ผ่านมาได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2543 ป่วย 140,500 ราย ปี 2555 ป่วย 16,196 ราย เสียชีวิต 17 ราย และ ปี 2556 ป่วย 14,685 ราย เสียชีวิต 9 ราย

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า คร.มีนโยบายจะกวาดล้างโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย โดยปีนี้ ได้จัดทำโครงดำเนินการในพื้นที่สูง เริ่มจาก จ.ตาก ดำเนินการที่ อ.ท่าสองยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบโรคนี้มากอันดับ 1 ในประเทศ ครอบคลุม 60 หมู่บ้าน 6,000 หลังคาเรือน ประชาชนกว่า 15,000 คน เริ่มตั้งแต่ วันที่ 29-31 ม.ค. โดยใช้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ตรวจเลือดค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาฟรีทันที เมื่อพบเชื้อ 2.พ่นสารเคมีชนิดฤทธิ์ตกค้าง แต่ไม่เป็นพิษกับผู้อยู่อาศัยในกระท่อมทุกหลังคาเรือน 3.แจกมุ้งชุบสารไพรีทรอยด์ ป้องกันยุงกัดทุกบ้าน ซึ่งสารดังกล่าวจะน็อกยุงเป็นอัมพาตและตายหลังสัมผัสสารที่เคลือบมุ้งภายใน 2 วินาที และ 4.แจกยาทากันยุงให้แก่ผู้ที่ตรวจพบเชื้อมาลาเรียในเลือด หรือสงสัยว่าป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เพื่อป้องกันยุงกัดและนำเชื้อไปแพร่สูคนอื่น โดยสามารถใช้ทาได้อย่างน้อย 3 วัน เป็นต้น

มั่นใจว่าหากสามารถลดจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอท่าสองยางลง ก็ลดอัตราป่วยจากไข้มาลาเรียของจังหวัดและทั้งประเทศลงได้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ควบคู่กัน ได้แก่ การให้ความรู้ และจัดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การสำรวจยุงก้นปล่องในพื้นที่ ศึกษาสายพันธุ์ยุงก้นปล่อง เวลาออกหากิน รวมทั้งนิสัยการหากินเหยื่อ การศึกษาแหล่งเพาะพันธุ์ยุง การศึกษาความต้านทานสารเคมีของยุง และการติดตามฤทธิ์คงทนของสารเคมีที่ใช้ชุบมุ้งคือสารไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) ให้คงทนยาวนานกว่า 6 เดือน” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรคมาลาเรีย คือต้องไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด ผู้ที่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ เช่น กรีดยาง ก่อนจะออกไปทำงานหรือไปกรีดยางในสวนยางพารา ควรทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวสีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าทึบจะดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก ส่วนประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวในป่า อาจเสี่ยงเป็นโรคมาลาเรีย ควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง เพื่อกางนอนไปด้วย ทั้งนี้ หลังกลับจากกรีดยางหรือทำงานในป่า หากมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือปวดศีรษะมาก อาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่า เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย และได้รับการรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เชื้อไข้มาลาเรียดื้อยา และทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น