xs
xsm
sm
md
lg

3 โรคหายเองได้ ไม่ต้องใช้ “ยาปฏิชีวนะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

สถานการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า อัตราการเกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจาก...การใช้ยาปฏิืชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล



ไม่สมเหตุสมผลในที่นี้คือ มีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นอย่างมากทั้งในคนและในสัตว์ ยกตัวอย่าง เมื่อเวลาเจ็บคอ ก็มักจะนิยมรับประทานยา "อะม็อกซี" หรือ Amoxicillin ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ “แบคทีเรีย” เท่านั้น แต่สาเหตุของการเจ็บคอมากกว่า 75% เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยาปฏิชีวนะไม่สามารถช่วยรักษาให้หายได้ มีเพียงน้อยกว่า 15% เท่านั้นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

นอกจากนี้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทยื ได้กล่าวไว้ในการแถลงข่าวเรื่อง “การรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในเด็ก : Antibiotics Smart Use in Children (ASU KIDs)” เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากผู้ปกครองด้วย

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก 2-5 ปี เป็นโรคที่สามารถหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กรับประทานยามากเกินไป โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายอาจทำให้เด็กแพ้ยาเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สำคัญคืออาจเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การรับประทานยาปฏิชีวนะโดยที่ไม่จำเป็นนั้น นอกจากจะมีอันตรายคือทำให้เด็กแพ้ยา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แล้ว ยังทำให้เชื้อดื้อยาจนรักษายากขึ้นด้วย รวมไปถึงทำให้มูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ จากรายงานการผลิตและนำเข้ายาประจำปี 2552 พบว่า ประเทศไทยใช้ยาปฏิชีวนะมูลค่าปีละกว่า 10,000 ล้านบาท มีผู้ติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นกว่า 1 ล้านวัน และเสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน

ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะจึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น หากมีอาการเจ็บคอ ทางที่ถูกต้องคือควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ ล่าสุด กลุ่มนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศกว่า 150 คน จาก 6 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันพระบรมราชชนก ได้ออกมาทำแฟลชม็อบ เพื่อร่วมต้านการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ Digital Gateway สยามสแควร์ ซึ่งภายในงานมีการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดการดื้อยา

โดยโรคที่ทำการรณรงค์ว่าสามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะมีทั้งหมด 3 โรคด้วยกันคือ 1.ท้องเสีย ซึ่ง 99% เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ เพียงดื่มน้ำเกลือแร่ก็หายได้ เพียงแต่ต้องจำกัดการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารแข็งและนม แล้วรับประทานผงเกลือแร่และน้ำ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป นอกจากนี้ หากอุจจาระมีมูกเลือดปน และอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์

ซึ่งกลุ่มที่ท้องเสียมีการถ่ายเหลวและมีมูกเลือดปน มีไข้ ตรวจพบเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ กลุ่มนี้จึงจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้ออะมีบา หรือที่มักวินิจฉัยกันว่าเป็นโรคบิด ต้องกินยาฆ่าเชื้อ แต่ควรจะไปพบแพทย์ก่อนที่จะซื้อมารับประทานเอง เพราะจากข้อมูลทางสถิติโดยกรมควบคุมโรคได้รับรายงานจากสถานพยาบาลต่างๆ ในปี 2550 พบว่า ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงมี1,433,230 ราย มีผู้ป่วยเพียง 19,026 รายที่เข้าข่ายโรคบิด จึงมีผู้ป่วยที่ควคกินยาปฏิชีวนะเพียง 1.3% เท่านั้น

2.หวัด-เจ็บคอ อย่างที่กล่าวไปแล้วนั้นว่ามากกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส การพักผ่อนและทำร่างกายให้อบอุ่น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายแข็งแรง กำจัดไวรัสได้เร็วขึ้น จึงหายป่วยเร็วขึ้น และ 3.แผลเลือดออก โดยเกิดจากมีดบาด แผลถลอก ถ้าทำความสะอาดอย่างถูกวิธีและป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ แผลก็จะหายเองได้

ทั้ง 3 โรคที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้นแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังเป็นการสิ้นเปลืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อยาด้วย ดังนั้น ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าโรคที่เป็นนั้นจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.)


กำลังโหลดความคิดเห็น