xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” แถ กศน.เปิดจบ ม.6 ใน 8 เดือนไม่ใช่ประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มอบ กศน.เร่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนนอกระบบ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับ ปชช.ถึงโครงการจบ ม.6 ใน 8 เดือน ย้ำไม่ใช่ประชานิยม แต่เพื่อให้เกิดคุณภาพ หลังพบคนแห่สมัครกว่า 9 หมื่นคน แต่สอบผ่านระดับต้นเพียง 3 พันเท่านั้น
จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศธ.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการเพิ่ม และขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพของ กศน. ตามนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่ได้มอบหมายให้ กศน.ไปดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดการศึกษาให้ประชาชนรู้หนังสือ โดย ศธ.มีเป้าหมายให้คนไทยตั้งแต่อายุ 15-59 ปี รู้หนังสือ เพราะจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2554 พบว่า กลุ่มอายุดังกล่าวไม่รู้หนังสือถึง 45% ซึ่งขณะนี้ กศน.ได้จัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 2.การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษานอกระบบในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในปีนี้ กศน.ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับคุณภาพสู่สากลภายใต้การพัฒนาคุณภาพ 6 มิติ ประกอบด้วย ผู้เรียน รูปแบบการเรียน การจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียน ครูผู้สอน และการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กศน.ได้พยายามลดสัดส่วนครูต่อผู้เรียนในกลุ่มผู้เรียนปกติจาก 1:80 มาเป็น 1:60 กลุ่มผู้เรียนพิการทางสติปัญญา 1:5 กลุ่มผู้เรียนพิการทางร่างกาย 1:10 กลุ่มผู้เรียนพื้นที่พิเศษ 1:35 และ 3.การจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่ง กศน.ได้จัดทำโครงการ 1 จังหวัด 1 ห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีงานทำโดยเน้นผู้เรียนที่มีงานทำแล้วเท่านั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาด้านอาชีพ ซึ่งรับได้ประมาณ 30,000 คนต่อปีเท่านั้น

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการนำเสนอความคืบหน้าดังกล่าว ที่ประชุมได้มอบให้ กศน.ไปดำเนินการต่อ โดยเรื่องการจัดการศึกษาให้ประชาชนรู้หนังสือนั้น ให้ไปศึกษาประสบการณ์เทียบเคียงกับการดำเนินการเรื่องนี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำประสบการณ์ที่ดีมาใช้ให้แน่ใจว่าจะสอนให้ประชาชนได้รู้หนังสืออย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ส่วนเรื่องสัดส่วนครูต่อนักเรียนนั้น ได้ให้ไปศึกษาถึงสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบที่ใช้ในการอุดหนุนการศึกษานอกระบบที่จะสามารถทำให้ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ดีขึ้น เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐจัดสรรให้นั้น กศน.ต้องนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างครู ดังนั้นเมื่อเทียบการจัดการศึกษากับหน่วยงานอื่น เช่น สพฐ.จะพบว่าเงินที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน.อยู่ในระดับต่ำมาก จึงทำให้การขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ขอให้ กศน.ไปชี้แจงให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ และความยากง่ายในการสอบของโครงการเทียบโอนระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโครงการเรียนจบ ม.6 ใน 8 เดือน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจว่าเป็นโครงการที่เน้นคุณภาพ ไม่ใช่เป็นโครงการที่สร้างความนิยมให้กับผู้สนใจ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ

“โครงการนี้มีผู้สนใจมาสมัครเทียบระดับสูงมาก ประมาณ 90,000 กว่าคน แต่สอบขั้นต้นได้ประมาณ 3,000 กว่าคน และสอบผ่านเกณฑ์ทุกวิชาประมาณ 100 กว่าคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ตรงกับความเข้าใจของสังคมเลย ซึ่งโครงการนี้เน้นคุณภาพมาก ไม่ใช่โครงการที่เข้าง่ายออกง่าย และไม่มีคุณภาพอย่างที่เข้าใจกัน” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ที่ประชุมยังได้มอบให้ กศน.ไปพิจารณาแนวทางการดูแลครูช่วยสอน และครูอัตราจ้างที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อให้มีเส้นทางความก้าวหน้า และมีโอกาสที่จะเรียนต่อ เพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งอย่างไรก็ตามที่ประชุมยังได้มอบให้ กศน.ไปรวบรวมประเด็นสำคัญที่ยังค้างอยู่ และรอการตัดสินใจทั้งจากคณะกรรมการ กศน.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กศน.ที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะงาน กศน.มีผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 1.35 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น