xs
xsm
sm
md
lg

7 คุณประโยชน์ “ผลไม้ไทย” ช่วยต้านอนุมูลอิสระ-ลดเสี่ยงมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกิน “ผลไม้” เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายจริงๆ เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งคนส่วนมากก็จะรับรู้เพียงเท่านี้ หรืออาจจะรู้เพิ่มขึ้นมาอีกนิด เช่น มะเขือเทศ มีไลโคปีน ส้ม มีวิตามินซี

แต่หลายคนอาจสงสัยว่ากินผลไม้แล้ว จะช่วยทั้งต้านสารอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง ป้องกันโรคนั้นโรคนี้ได้ มันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ ถ้าจริงแล้วหลักฐานล่ะอยู่ที่ไหน วันนี้ ASTVผู้จัดการออนไลน์ มีคำตอบ

ในงานประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทวัน บุณยะประภัศร จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อธิบายว่า ผลไม้ไทยอุดมไปด้วยพฤกษเคมีมากถึง 7 ชนิด ได้แก่

1.ใยอาหาร มีประโยชน์ในการขับถ่าย ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้เร็วจึงลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดอนุมูลอิสระ ทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน

2.คาโรตินอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคตาในผู้สูงอายุ เนื่องจากช่วยกรองแสงยูวีสีน้ำเงิน ลดความเสี่ยงในการเป็นต่อกระจก

3.ฟลาโวนอยด์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ฟลาโวนอยด์กลุ่มไอโซฟลาโวนอยด์มีฤทธิเหมือนฮอร์โมนเพศหญิง กลุ่มแคทธิชิน ช่วยเรื่องการควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งมีสีแดงยังช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันเซลล์ประสาท และบำรุงสายตา

4.กรดฟินอลิค มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นเอนไซม์ที่ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลดปริมาณออกซิไดซ์แอลดีแอล ต้านการก่อกลายพันธุ์

5.กรดอินทรีย์ เป็นสารที่ให้รสเปรี้ยว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

6.เทอร์ปีน เป็นสารที่ให้กลิ่นหอมมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง

และ 7.พรีไบโอติก ประกอบด้วย อินนูลิน และโอลิโกแซคคาไรด์ ช่วยให้แบคทีเรียก่อโรคและมีประโยชน์สมดุลกัน และทำให้เกิดเมตาโบไลท์ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ผลไม้ที่มีสารพฤกษเคมีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก อาทิ ส้ม ส้มโอ มีวิตามินซีสูง มีสารคาโรทินอยด์ ฟลาโวนอยด์ และกรดอินทรีย์, สับปะรด มีสารคาโรทินยอด์ ใยอาหาร กรดอินทรีย์, กล้วย มีแคทธิชิน ฟลาโวนอยด์ ใยอาหาร อินนูลิน และทับทิม มีแอนโทไซยานิน กรดฟินอลิค เป็นต้น ที่สำคัญผลไม้บางชนิดมีการวิจัยในคนชัดเจนว่ามีประโยชน์จริงๆ เช่น ส้ม ป้องกันเส้นเลือดเปราะ กล้วย ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มะเฟือง ยับยั้งการอักเสบและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งในหลอดทดลองและการศึกษาในผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งปริมาณการกินแนะนำว่าควรกินให้เหมาะสม และกินแบบสดๆ ไม่ผ่านการแปรรูปซึ่งต้องผ่านความร้อน จะส่งผลให้สารเคมีในผลไม้เหล่านี้เปลี่ยนรูปหรือเปลี่ยนสภาพไป ก็จะไม่ได้รับประโยชน์เท่ากินสดๆ” ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทวัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น