xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : ย่านาง สมุนไพรอายุวัฒนะ หมื่นปีไม่มีแก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย่านาง หรือย่านางขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Tiliacora Triandra (Colebr.) Diels ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bai-ya-nang (ตรงตัว) มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น เถาย่านาง เถาหญ้านาง เถาวัลย์เขียว หญ้าภคินี(ภาคกลาง), จ้อยนาง จอยนาง ผักจอยนาง(เชียงใหม่), ย่านนาง ยานนาง ขันยอ(ภาคใต้) และเครือย่านาง ปู่เจ้าเขาเขียว เถาเขียว(ภาคอีสาน) หมอยาโบราณภาคอีสานเรียกย่านางว่า หมื่นปีไม่แก่

เป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาแก่ที่ติดหัวปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด พบตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่งในทุกภาคของประเทศไทย

ลักษณะของต้น เป็นไม้เถาเลื้อยพัน กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วจะมีสีเข้ม ผิวค่อนข้างเรียบ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียว ฐานใบมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกมีสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกใบ

ในตำราสมุนไพรจัดว่า ใบย่านางเป็นยาอายุวัฒนะ ฤทธิ์เย็น รสจืด มีคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ มีวิตามิน แร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม เหล็ก เบต้าแคโรทีน และวิตามินเอในปริมาณค่อนข้างสูง ช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วรอย เสริมสร้าง ฟื้นฟู ปรับสมดุล เพิ่มความสดชื่น และลดความร้อนในร่างกาย ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคนิ่วในไต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง รักษาอาการกรดไหลย้อน ไทรอยด์เป็นพิษ ท้องเสีย โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ฯลฯ

จากการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่า น้ำคั้นจากใบย่านางมีคลอโรฟิลล์ สามารถเพิ่มความสดชื่น ปรับสมดุลร้อนเย็นในร่างกาย ลดไข้ ปวดแขนขา แสบร้อนเบ้าตา เป็นผดผื่นคัน แพ้อากาศ สามารถล้างสารพิษที่สะสมในระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม

ส่วนการศึกษาวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในใบประกอบด้วยสารโพลีแซคคาไรด์ สารโพลีฟีนอล แคลเซียมออกซาเลท และอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ

หมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน) นักบำบัดสุขภาพทางเลือก การแพทย์วิถีธรรม ค่ายสุขภาพพึ่งตน ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของย่านาง รวมถึงได้นำมาทดลองบำบัดโรคแล้ว พบว่า ย่านางมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์มากมาย โดยทดลองใช้ย่านางกับผู้ป่วยมะเร็งตับ เมื่อ 3 เดือนผ่านไป พบว่า มะเร็งฝ่อลง และผู้ป่วยโรคเกาต์ ให้ดื่มน้ำย่านางต่อเนื่อง3 เดือน พบว่า อาการปวดข้อก็หายไป

ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้ทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง พบว่า หลังจากดื่มน้ำย่านางอย่างต่อเนื่อง สามารถลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตได้จริง

นอกจากใบที่มีสรรพคุณมากมายแล้ว รากย่านางยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา5 ราก หรือแก้วห้าดวง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพร โดยยาดังกล่าวเป็นยาแก้ไข้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในขณะที่เริ่มเป็นได้

ย่านางจึงเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มากด้วยสรรพคุณทางยาและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย มีคณา)




กำลังโหลดความคิดเห็น