xs
xsm
sm
md
lg

แนะกระจาย “คอนดอม” 80 ล้านชิ้น จับวัยรุ่นใส่ห่วง ทำหลักสูตรใหม่ แก้คุณแม่วัยทีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงประชุม คกก.อนามัยเจริญพันธุ์ ชู 3 แนวทางแก้ปัญหาคุณแม่วัยทีน ชี้ต้องกระจายคอนดอม 80 ล้านให้เข้าถึง จับวัยรุ่นใส่ห่วงป้องกันการท้องซ้ำ และจัดหลักสูตรเพศศึกษาให้ทันสมัย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เมื่อปลาย พ.ย. 2556 ได้ร่วมกันหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน ซึ่งสถิติในปี 2555 เป็นแม่วัยรุ่นอายุ 10-17 ปี คลอดทั้งหมด 63,475 คน คิดเป็นร้อยละ 7.9 ของจำนวนหญิงคลอดทั้งหมดจำนวน 801,737 คน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด โดยในปี 2557 สธ.ได้เตรียมถุงยางอนามัยสนับสนุนฟรีจำนวน 80 ล้านชิ้น และตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด เพื่อหารูปแบบวิธีการกระจายถุงยางอนามัยให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า 2.การป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ โดยให้บริการการคุมกำเนิดกึ่งถาวร เช่นใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด ณ คลินิกบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชน เน้นหนักในกลุ่มแม่วัยรุ่นที่มาคลอดในโรงพยาบาล เพื่อเว้นระยะการมีบุตรจนกว่าจะพร้อมมีบุตรคนต่อไป และ 3.มอบให้กรมอนามัยจัดทำร่างข้อตกลงร่วมระหว่าง สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการจัดหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาที่ทันสมัย ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ และการทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบให้กรมอนามัย ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศึกษามาตรการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้อย่างรัดกุมที่สุดด้วย

“ทั้งนี้ สถานการณ์วัยรุ่นตั้งครรภ์ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีการคลอดบุตรเพิ่มจาก 39.2 คนจากหญิงวัยเดียวกันพันคนในปี 2546 เป็น 53.8 คนในปี 2555 ส่งผลให้เด็กที่คลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เพิ่มสูงขึ้น โดยยิ่งแม่อายุน้อยลงเท่าใดลูกที่คลอดออกมายิ่งมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้น โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เด็กที่คลอดจากแม่ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 18 แม่อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 13.7 และแม่ทุกกลุ่มอายุร้อยละ 10 เนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์พอ ไม่ฝากครรภ์ หรือหลบซ่อนไม่ให้รู้ว่าท้อง ทำให้ขาดโอกาสได้รับการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย จะต้องเร่งหาทางป้องกันที่ได้ผลให้เร็วที่สุด” รมว.สาธารณสุข กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น