xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นยุคใหม่ “เจ้าโลก” ใหญ่ขึ้น เมินคอนดอมขนาด 49 มม. - โพลชี้สังคมตีตราเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้สังคมยังตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ พบผู้หญิงรังเกียจมากกว่าผู้ชาย ระบุ 50.6% ไม่ยินดีว่ายน้ำร่วมกัน 33.3% กีดกันการเรียน สะท้อนยังไร้ความไม่เข้าใจ ด้านมูลนิธิพนักงานบริการเผย ขนาดคอนดอมจากรัฐไม่เอื้อต่อการใช้งานจริง ชี้วัยรุ่นยุคใหม่ “เจ้าโลก” ใหญ่ขึ้นกว่ายุคเก่า ทำไซส์ 49 มม.เหลือบาน วอนขอไซส์ 56 มม.เพิ่มขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (28 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาที่พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์คือ การตีตราและกีดกันทางสังคม ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นประชาชน DDC Poll ครั้งที่ 1 เรื่องการตีตราและกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย จากประชาชนจำนวน 2,057 คน จาก 21 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ดำเนินการโดยหน่วยงานสังกัด คร. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ สถาบันการพลศึกษา ระหว่างวันที่ 4-7 พ.ย. 2556 พบว่า ร้อยละ 61.9 เห็นควรให้มีการบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนสมัครเรียน ร้อยละ 57.7 ก่อนการบวช และร้อยละ 73.1 ก่อนสมัครเข้าทำงาน ร้อยละ 50.6 ไม่ยินดีว่ายน้ำในสระเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ร้อยละ 27.5 ไม่ยินดีอยู่ร่วมบ้านกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ร้อยละ 30.6 ไม่ยินดีรับประทานอาหารกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ร้อยละ 27.4 ไม่ยินดีรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนสนิทที่ติดเชื้อ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ร้อยละ 33.3 ไม่ยินดีให้ลูกเรียนร่วมชั้นกับเด็กที่ติดเชื้อ ร้อยละ 42.5 ไม่ยินดีให้ลูกเล่นกับเด็กที่มีเชื้อ ร้อยละ 46.4 ไม่ยินดีใช้ห้องน้ำร่วมกับคนผู้ป่วยเอดส์ ร้อยละ 17.5 ไม่ยินดีดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยเอดส์ด้วยตนเอง และร้อยละ 63.1 จะไปตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อหากมีบริการตรวจฟรีในห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังพบว่า เพศหญิงรังเกียจผู้ป่วยเอดส์ที่แสดงอาการแล้วมากกว่าเพศชาย คนอายุ 15-30 ปี รังเกียจผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยมากกว่ากลุ่มอื่น ประชาชนที่มีระดับการศึกษาตั้งแต่ ปวช.หรือมัธยมศึกษาลงมารังเกียจผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยมากกว่ากลุ่มการศึกษาอื่น และประชาชนที่มีคนในครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้วจะรังเกียจมากกว่ากลุ่มที่มีเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักติดเชื้อหรือป่วย

จากการสำรวจสรุปได้ว่า สังคมยังมีการกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งยังไม่นับรวมกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจด้วย หากรวมแล้วสัดส่วนการกีดกันผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจะมีจำนวนสูงมาก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความรู้ความเข้าใจของการติดต่ออาการของโรค ผลการรักษา และการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนไทยต่อโรคเอดส์ที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเป็นระบบและจริงจังต่อไป ซึ่งจะต้องเดินหน้า 4 มาตรการคือ 1.การเข้าถึงการป้องกันอย่างผสมผสาน 2.รักษาผู้ติดเชื้อทุกคนด้วยยาต้านไวรัสแม้ภูมิต้านทานยังไม่ต่ำ 3.ดูแลรักษาต่อเนื่อง และ 4.ปรับภาพลักษณ์ด้านเอดส์เป็นโรคเรื้อรังและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า โรคเอดส์เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากการอยู่ร่วมกัน เช่น ว่ายน้ำด้วยกัน รับประทานอาหารร่วมกัน จูงมือถือแขน หรือกอดรัด และป้องกันได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการให้ยาในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อและผู้ป่วย เมื่อได้รับการรักษาสามารถทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป

นายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า ถุงยางอนามัยที่ภาครัฐเทงบประมาณจัดซื้อให้แก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยนั้น ในส่วนของมูลนิธิฯพบว่า มีปัญหาสัดส่วนของถุงยางแต่ละขนาดไม่เหมาะสมกับผู้มาขอรับบริการ โดยขนาดของถุงยางอนามัยที่ส่งมายังมูลนิธิฯกว่าร้อยละ 30-40 เป็นขนาด 49 มิลลิเมตร (มม.) ขณะที่ขนาด 52 มม. 54 มม. และ 56 มม.ซึ่งเป็นที่ต้องการจำนวนมากนั้นมีสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะขนาด 56 มม.เพราะในกลุ่มพนักงานบริการลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยขนาดใหญ่สำหรับชาวต่างชาติคือ 56 มม. แต่เมื่อมีการจัดสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องมีการหยิบยืมถุงยางอนามัยกันเองระหว่างกลุ่มบริการ และทำให้ถุงยางขนาด 49 มม.เหลือทิ้งอยู่ในมูลนิธิฯเกือบทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะเสียงบประมาณโดยใช่เหตุแล้ว ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการป้องกันควบคุมโรคด้วย

กลุ่มวัยรุ่นก็ไม่นิยมใช้ถุงยางขนาด 49 มม.อีกต่อไป เพราะขนาดโตขึ้น เนื่องจากมีการรับประทานอาหาร และอาหารเสริมต่างๆ ทำให้ร่างกายมีขนาดสูงใหญ่กว่าวัยรุ่นสมัยก่อน จึงอยากเรียกร้องให้ คร.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดซื้อถุงยางขนาด 56 มม.ให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มสัดส่วนสารหล่อลื่นให้พอเหมาะกับจำนวนถุงยาง เพราะปัจจุบันสมมติได้รับถุงยางจำนวน 1,000 ชิ้น จะมีสารหล่อลื่นมาด้วยประมาณ 400 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งสารหล่อลื่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มชายรักชาย เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ถุงยางฉีกขาดแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้ช่องทวารหนักฉีกขาดด้วย รวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่มีช่องคลอดแห้งก็จำเป็นต้องใช้” นายจำรอง กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดี คร.กล่าวว่า ถุงยางอนามัยไม่ว่าจะขนาดเท่าไรก็มีรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่ละแห่งว่ามีปัญหาถุงยางอนามัยไม่เพียงพอ แต่จากข้อเรียกร้องของกลุ่มพนักงานบริการ ในการจัดซื้อถุงยางอนามัยเพิ่มจำนวน 40 ล้านชิ้น ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุขนั้น ก็จะพยายามปรับสัดส่วนจำนวนถุงยางอนามัยขนาด 52 54 และ 56 มม.มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น