จุฬาฯ-มหิดล ประสานเสียง วิจัยพบฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกคุ้มทุน หากฉีดในเด็ก 11-12 ปี ประหยัดงบการรักษา 39% เด็ก 11-24 ปี ประหยัดงบการรักษา 45% พ่วงอัตราการติดเชื้อลดลง เตรียมนำเสนอรัฐบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานอีกครั้ง
วันนี้ (19 ธ.ค) รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดและเสียชีวิตสูง โดยไทยถือว่ามีอัตราการพบโรคเป็นลำดับ 2 ของโลก และลำดับ 1 ของเอเชีย โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 24.7 คนต่อประชากรแสนราย และเสียชีวิตเฉลี่ย 14 คนต่อวัน โดยพบว่าสาเหตุการเกิดโรคมาจากการติดเชื้อเอชพีวี โดยที่การมีเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลัก ประกอบกับการมีคู่นอนหลายคน เป็นต้น โดยอาการที่เตือนว่าเกิดโรคคือ ตกขาวมากกว่าปกติ และการมีเลือดออกที่อวัยวะเพศ ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ แต่ความจริงสามารถป้องกันได้ โดยปัจจุบันมี 128 ประเทศที่ใช้วัคซีนเอชพีวี และ 58 ประเทศ รัฐบาลได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งจากที่พบงานวิจัยเพิ่มขึ้นและมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการจำนวนมากทำให้จะมีการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานอีกครั้ง
นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเรื่องความคุ้มค่าของการบรรจุวัคซีนเอชพีวี ให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน โดยได้นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าในการรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดตัวเลขใหม่เทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน เนื่องจากราคาวัคซีนมีอัตราลดลงโดยอ้างอิงจากประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งพบว่ามีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของคนไทย ตัวอย่างการติดตามผลการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย พบว่า มีการฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงในปี 2550 โดยพบว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2553 อัตราการติดเชื้อหูดหงอนไก่ในผู้หญิงลดลงประมาณร้อยละ 60 จากที่เคยตรวจพบอัตราการเกิดหูดหงอนไก่กว่าร้อยละ 80
“จากงานวิจัยความคุ้มค่าทางสาธารณสุข ยังพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น จะช่วยประหยัดงบในการรักษาหากฉีดในเด็กอายุ 11-12 ปี ได้ประมาณร้อยละ 39 และหากฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 11-24 จะช่วยประหยัดงบในการรักษาได้ประมาณร้อยละ 45”นพ.วิชัย กล่าว
นพ.นิพนธ์ เขมะเพชร อาจารย์สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว่า หลังจากมีการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก พบว่า จำนวนประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โดยงานวิจัยยังพบว่า วัคซีนช่วยลดรอยโรคในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์และได้รับเชื้อแล้ว โดยรอยโรคจะแบ่งเป็นรอยโรคที่ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งขั้นสูง พบว่าลดได้ประมาณร้อยละ 50 และลดรอยโรคที่ทำให้เกิดมะเร็งขั้นต่ำได้ร้อยละ 25
ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนได้รับการยอมรับทั้งในแง่ความปลอดภัยและความคุ้มค่ามากขึ้น โดยพบว่า จากนโยบายรัฐบาลในการคัดกรองโรคนั้นถือเป็นนโยบายที่มีประโยชน์และจำเป็นต้องทำ แต่พบปัญหาว่าการตรวจคัดกรองนั้น มีปัญหาหลายอย่าง เช่น การให้ประชาชนมาตรวจคัดกรอง หรือแม้จะมีประชาชนมาตรวจคัดกรอง แต่ก็ขาดเจ้าหน้าที่ในการอ่านผลตรวจ ซึ่งข้อดีในการฉีดวัคซีนอีกอย่างคือได้ให้ความรู้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นในการดูแลตัวเอง