รมช.สาธารณสุข ห่วงภัยโรคมะเร็งปากมดลูก เผยขณะนี้คร่าชีวิตหญิงไทยปีละ 5,200 ราย เฉลี่ยวันละ 14 ราย ป่วยเพิ่มปีละ 10,000 ราย เร่งแก้ไขป้องกัน โดยรณรงค์ให้ผู้หญิงวัย 30 ปีขึ้นไปที่มี 21 ล้านคนเข้ารับการตรวจภายใน อย่าอายหมอ ชี้ผลดีจะสามารถหาความผิดปกติได้เร็ว รับการรักษาเร็ว โอกาสหายมีสูง พร้อมหนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกัน มั่นใจลดค่ารักษากว่าปีละ 500 ล้านบาท
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหามะเร็งปากมดลูกว่า โรคนี้เป็นปัญหาคุกคามสุขภาพและชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ในวัยแรงงานและสูงอายุ มากเป็นอันดับ 2 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพสตรีรวมทั้งเด็กเป็นอย่างมาก แต่ละปีจะมีผู้หญิงป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย หรือวันละ 27 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5,200 ราย หรือวันละ 14 ราย โดยกลุ่มที่พบสูงสุดคืออายุ 45-55 ปี องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ขณะนี้ทั่วโลกในทุก 2 นาทีจะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 1 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญโรคนี้มาโดยตลอด และเร่งดำเนินการให้ผู้หญิงได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papilloma Virus หรือที่ชาวบ้านเรียกกว่าไวรัสหูดที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่ปากมดลูก เมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว จะค่อยๆ ก่อตัวเกิดความผิดปกติที่ปากมดลูก ไม่รู้สึกเจ็บปวด ระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว จะมีอาการผิดปกติปรากฏ เช่นประจำเดือนมามากผิดปกติ มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนแล้ว ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ลักษณะคล้ายหนอง อาจมีเลือดออกปนมาด้วย หากอยู่ในระยะลุกลาม จะทำให้เกิดอาการขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นเลือด
ในการป้องกันและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข มียุทธศาสตร์และบูรณาการร่วมกัน 3 วิธี ได้แก่ 1.การให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน 2.จัดระบบการตรวจคัดกรองโดยการตรวจภายในซึ่งมี 2 วิธีคือวิธีแป๊ปสเมียร์และวิธีวีไอเอ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น ให้ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 21 ล้านคน เข้ารับการตรวจให้ได้มากที่สุดแต่ปัญหาขณะนี้พบว่าผู้หญิงยังไม่ค่อยกล้าตรวจ เนื่องจากเขินอายหมอหรือกลัวเจ็บ ทำให้มักไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ซึ่งหมายถึงมะเร็งลุกลามไปแล้ว โดยจะมีการปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงไม่รู้สึกเขินอายและกล้ามาตรวจมากขึ้นเช่น อบรม อสม.ช่วยรณรงค์ให้ผู้หญิงมาตรวจโดย อสม.1 คนต่อผู้หญิง 20 คน ตั้งเป้าตรวจให้ครบใน 1 ปี และตรวจซ้ำทุก 3 ปี หากดำเนินการได้ครอบคลุมผู้หญิงร้อยละ 80 หรือประมาณ 17 ล้านคน จะลดอัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 61 และหากทำทุก 3 ปี จะลดได้ร้อยละ 61 เช่นกัน
สำหรับวิธีที่ 3.คือการฉีดวัคซีน เอช พี วี กระทรวง จะผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันให้เร็วที่สุดแต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนและอยู่ในราคาที่เหมาะสม การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันเพื่อลดจำนวนการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก วัคซีนดังกล่าวจะป้องกันเชื้อไวรัส เอชพีวี สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่พบทั่วโลกและในไทย ได้ผลประมาณร้อยละ 70 มีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเกิน 10-20 ปี คาดสามารถลดค่ารักษาโรคนี้ได้กว่าปีละ 500 ล้านบาท วิธีนี้จะเป็นการต่อยอดการตรวจภายใน ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้เริ่มป่วยให้ได้เร็ว ซึ่งจะสามารถรักษาที่ได้ผลและหายขาดได้หากพบตั้งแต่ระยะแรก นายแพทย์ชลน่าน กล่าว