xs
xsm
sm
md
lg

ยอดชายซั่มชาย กทม.สูง 2 แสน อึ้ง! พบเชื้อ HIV-HPV เพิ่มทุกปี “ออรัลเซ็กซ์” น่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อ HPV
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เผยยอดชายซั่มชายใน กทม.มีสิทธิสูงกว่า 2 แสนราย พบสถิติติดเชื้อ HIV มากขึ้นทุกปี และ 85% มักพบเชื้อ HPV ร่วมด้วย เสี่ยงการเป็นมะเร็งปากทวารหนัก ด้านออรัลเซ็กซ์ก็น่าห่วง มีสิทธิเกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอหากไม่สวมถุงยางอนามัย แนะผู้มีความเสี่ยงตรวจคัดกรอง ด้านแพทย์ศิริราชชี้ฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการติดเชื้อใหม่ได้ และป้องกันมะเร็งได้ 78%



วันนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่คลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ รองหัวหน้าหน่วยวิจัย SEARCH ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวในการแถลงข่าว “ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย เสี่ยงเป็นมะเร็งปากทวารหนักจากไวรัส HPV” ว่า เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) มีจำนวนมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุของหูด โดยมีจำนวน 40 สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศและทวารหนัก หากเป็นชนิดที่มีความเสี่ยงสูงจะมีประมาณ 13-15 สายพันธุ์ โดยการติดเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงสูงแบบเรื้อรัง จะทำให้กลายเป็นเซลล์ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทั้งนี้ ในผู้หญิงพบว่ามีการติดเชื้อ HPV จนเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกในอัตรา 9.9 คนต่อแสนประชากร ช่องคลอดอัตรา 0.5 คนต่อแสนประชากร และทวารหนัก 2.5 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ผู้ชายพบเชื้อ HPV จนเกิดเป็นมะเร็งปากทวารหนักในอัตรา 1.6 คนต่อแสนประชากร และในองคชาติอัตรา 1 คนต่อแสนประชากร แม้อัตราส่วนมะเร็งปากทวารหนักจากเชื้อ HPV ในผู้หญิงจะพบมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งปากทวารหนัก ร้อยละ 70-90 เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย

จากสถิติของกรมควบคุมโรค ประมาณการว่าชายไทยอายุ 15-49 ปี เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายขั้นต่ำประมาณ 3% แต่ถ้าใน กทม.ตัวเลขประมาณการอาจจะสูงกว่านี้ อาจจะอยู่ที่ 2 แสนกว่าราย ที่สำคัญพบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายพบการติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ผู้หญิงติดเชื้อ HIV จากสามีลดลง นอกจากนี้ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและติดเชื้อ HIV นั้นพบว่า จะมีการติดเชื้อ HPV ทุกชนิดร่วมด้วยถึง 85% เป็นเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง 58% หากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งขั้นต่ำสามารถหายเองได้ แต่หากเป็นขั้นสูงจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งปากทวารหนักในที่สุด” พญ.นิตยา กล่าว

พญ.นิตยา กล่าวอีกว่า เชื้อ HPV สามารถติดต่อกันได้ทางสัมผัส ที่สำคัญผู้ชายเป็นพาหะของเชื้อ HPV ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์มีโอกาสติดต่อได้ หากไม่มีการป้องกันที่ดี โดยเฉพาะบริเวณปากมดลูกและปากทวารหนัก เพราะเป็นโซนที่เซลล์มีการเปลี่ยนชนิดจากเยื่อบุเป็นผิวด้านนอก จึงเป็นแหล่งที่เชื้อชอบเข้าไปสะสม ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ขอให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากทวารหนัก (Anal Pap Smear) ซึ่งเป็นวิธีเก็บเซลล์มาตรวจหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง หากพบว่าผิดปกติจะมีการตรวจต่อว่า มีความผิดปกติในช่วงใดจากนั้นจะทำการรักษาที่บริเวณนั้นก่อนลุกลามกลายเป็นมะเร็ง เพราะโอกาสการเป็นมะเร็งภายใน 1 ปี หากเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจะมีโอกาส 1 ใน 600 คน หากไม่ใช่กลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสเพียง 1 ใน 4,000 คน เท่านั้น ซึ่งการรักษาสามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่องจี้อิฟราเรด หรือการแต้มกรด TCA ฯลฯ

ที่น่าห่วงคือการเกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอจากเชื้อ HPV ซึ่งเกิดการจากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (ออรัลเซ็กซ์) ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะพยายามเร่งผลักดันให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งในช่องปากและลำคอจากเชื้อ HPV ด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิง หรือกับผู้ชายด้วยกันเอง ขอให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใส่ถุงยางอนามัย แม้แต่การทำออรัลเซ็กซ์ก็เช่นกัน ควรใส่ถุงยางอนามัยเพื่อความปอลดภัยด้วย” พญ.นิตยา กล่าว

รศ.นพ.มงคล เบญจาภิบาล ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การฉีดวัคซีน HPV ในผู้ชายสามารถลดอัตราการติดเชื้อได้ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากทวารหนักสูงถึงร้อยละ 78 อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อใหม่ ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาหรือช่วยลดเชื้อเดิมที่มีอยู่ ที่สำคัญเป็นวัคซีน HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ดังนั้น การตรวจคัดกรองยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน เพราะยังมีโอกาสติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นได้เช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น