ทปอ.ออกแถลงการณ์ ฉ.4 ยันข้อเสนอยุบสภา พร้อมตั้งรัฐบาลรักษาการ พร้อมประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ นศ.รามคำแหง กระตุ้น “จาตุรนต์” แสดงน้ำใจเยี่ยม นักศึกษารามฯ เตรียมมอบเงินช่วยเหลือ 3 แสนบาทและเยี่ยมผู้บาดเจ็บ
วันนี้ (2 ธ.ค.) เมื่อเวลา 18.00 น.ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วาระพิเศษเพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ.เป็นประธานประชุมร่วมด้วย 27 มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น. ศ.ดร.สมคิด กล่าวภายหลังประชุม ว่า ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4 ว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศได้แปลงเข้าสู่ความไม่สงบ เกิดการปะทะในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จนมีผู้เสียชีวิตและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทปอ.เสียใจต่อ และยืนยันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อไม่ให้ประเทศชาติสูญเสียไปมากกว่านี้
นอกจากนี้ ทปอ.ขอประณามเหตุความรุนแรงในมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ทปอ.จึงเรียกให้สถาบันการศึกษาเป็นที่พึงได้รับความคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่จากหน่วยงานของรัฐ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นหาความจริง เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทปอ.ยังเห็นว่าการยุบสภาเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมในขณะนี้ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย ด้วยการคืนอำนาจการตัดสินใจให้้กับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมจะไม่ทำตัวเป็นเงื่อนไขในการทำให้กลับคืนสู่ความสงบ และในระหว่างยุบสภาให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาบริหารประเทศ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางจากทุกภาคส่วน เพื่อปฏิรูปประเทศไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มีคุณธรรม และมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทปอ.พร้อมและยินดีที่จะใช้องค์ความรู้และบุคลากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่จะร่วมกันพิจารณาหาทางออกให้แก่ประเทศ
“หากมีการยุบสภา รัฐบาลสามารถลาออกจากตำแหน่งและให้มีรัฐบาลกลางเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับว่านายกฯจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่นายกฯอาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวข้ามเหตุการณ์ปัจจุบันไปได้ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทปอ.พร้อมเป็นคนกลางในการเจรจาประสานความเข้าใจ ซึ่งหากมีคนเชิญให้ ทปอ.ก็ยินดีเพราะเรามีนักวิชาการ มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครรับฟังหรือไม่ ซึ่งถ้าจะเชิญก็ขอให้รับฟังข้อเสนอของ ทปอ.ด้วย” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังหารือกรณีที่นักศึกษาของ ม.รามคำแหง ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปะทะที่ผ่านมา โดยมีมติมอบเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อให้อธิการบดี มร.นำไปบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือนักศึกษา รวมทั้งจะเดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บด้วย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปิดเรียนวันที่ 5-10 ธันวาคมนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ปิดเรียนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขึ้นเวทีของผู้ชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยส่วนตัวมองว่า นายจาตุรนต์ ควรจะไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือดูแลนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้หากเป็นรัฐมนตรีอื่นขึ้นเวที และไม่ไปเยี่ยมคงไม่เป็นไร แต่นี่เป็น รมว.ศึกษาธิการ น่าจะดูแลนักศึกษาและแถลงจุดยืนที่ชัดเจนแก่มหาวิทยาลัยทั้งหมด
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีอธิการบดีเข้าร่วมทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ศ.(พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา, รศ.ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่วนที่เหลือส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม