รมว.ศธ.ห่วง สถานการณ์เมืองนำสู่การไม่เป็น ปชต.ลั่น สังคมต้องเลือกหนุน ปชต.หรือไม่หนุน ชี้ “สุเทพ” ยึดที่ราชการ ไม่ชอบธรรม สภา ปชช.ขัด รธน.เป็นการรัฐประหาร เหมือนรัฏฐาธิปัตย์ ยอมหรือไม่ ติง “อภิสิทธิ์” ประกาศร่วมม็อบทำปัญหาเพิ่ม บิดเบือนรัฐไม่รับอำนาจศาล เชื่อ รู้มีการเปลี่ยนแปลงไม่เป็น ปชต.จี้ ควรห้าม ไม่งั้นขัดแย้งไม่สิ้นสุด ข้อเสนอ ทปอ.ไร้ประโยชน์ รับคนกลางหายาก รับปมล้างผิดจุดอ่อนรัฐ ล้มระบอบแม้วหวังรัฐประหาร
วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ตึกบัญชาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า เป็นห่วงวิกฤตสถานการณ์การเมืองที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย สังคมอยู่ในภาวะต้องเลือก ว่าจะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย การที่นายสุเทพ ยึดอาคารสถานที่ราชการที่สำคัญนั้น เพื่อพยายามทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมาะสำหรับใช้ล้มล้างรัฐบาลที่เผด็จการมากกว่า และการกระทำนี้ไม่มีความชอบธรรมในแง่จุดมุ่งหมาย นอกจากนี้ข้อเสนอของผู้ชุมนุม เรื่องตั้งสภาประชาชน เพื่อเข้ามากำหนดรูปแบบกติกา รวมทั้งปฏิรูปประเทศเป็นข้อเสนอที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 68 และ 69 และการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมการชุมนุมเต็มตัว หากไม่ชนะไม่กลับ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นปัญหามากขึ้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจและการกระทำที่น่าจะสมรู้ร่วมคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่อะไร แต่การชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ พยายามใช้ถ้อยคำบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมจากการที่ไม่มายอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลไม่เคยพูดอย่างนั้น จึงเป็นการให้เหตุผลรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า การที่ นายอภิสิทธ์ ระบุว่าตนเองและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่รับตำแหน่งใดๆทางการเมืองหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นั่นหมายความว่านายอภิสิทธิ์ คาดอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งควรที่จะห้ามปรามมากกว่าที่จะมาบอกว่าไม่รับตำแหน่ง นอกจากนี้ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และห่วงใยบ้านเมืองควรออกมาตักเตือนและวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ยับยั้งการกระทำนี้เสีย และสังคมควรตั้งสติ มีหลักและยืนยันที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ เพราะถ้าการเคลื่อนไหวนี้สำเร็จก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ หรือการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่ง จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งต่อเนื่องไม่สิ้นสุด และจะมีอีกฝ่ายเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหายากมากขึ้นและใช้เวลานานประเทศชาติเสียหาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ.เสนอให้ยุบสภารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ข้อเสนอคณะดังกล่าวมีทั้งหมด 6 ประเด็น โดยการยุบสภาย่อมเป็นวีการแก้วิกฤตทางสภา และวิกฤตทางการเมืองแต่ผู้ชุมนุม บอกว่าสิ่งที่ต้องการไม่ใช่การยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นข้อเสนอของ ทปอ.หากจะมีการดำเนินการก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าหากมีทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหารือกันได้ค่อยหารือกันในประเด็นนี้ แต่ขณะเดียวกันทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ปฏิเสธในการเจรจาเช่นกัน ส่วนข้อเสนอที่จะให้คนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยนั้น ต้องยอมรับว่าการหาคนกลางไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่เหมาะที่จะให้แต่ละฝ่ายเสนอคนกลางขึ้นมา ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธ์ ได้ร่วมการการชุมนุมอยู่บนถนนจึงมองว่ายากที่จะมีการเจรจาเกิดขึ้น สำหรับกรณีที่ กลุ่ม 40 ส.ว.เสนอให้ประธานศาลมาเป็นคนกลางในการเจรจานั้น ตนไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลได้ แต่ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันคัดคนกลางขึ้นมารัฐบาลก็คงไม่ขัดข้อง
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลยืนยันที่จะยืนกระต่ายขาเดียวไม่ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อหลีกเลี่ยงให้เกิดความรุนแรงกับประชาชน เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นคงจะทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลที่มีไม่มีภูมิคุ้มกันอะไร และสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้ ถือว่าเป็นการป้องกันรัฐประหาร แต่ถ้าปล่อยให้การชุมนุมเดินหน้าสำเร็จ ก็จะมีสถานการณ์คล้ายกับรัฐประหารเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางกองทัพเองก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทรกแซง ทั้งนี้ข้อเสนอตั้งสภาประชาชนนั่นคือการทำรัฐประหาร ซึ่งถ้าถึงตอนนั้น มอบให้ นายสุเทพ เป็นประธาน และมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เหมือนรัฏฐาธิปัตย์ที่มีการกำหนดกฎหมายต่างๆ จะยอมกันหรือ
เมื่อถามว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น คิดว่ามาจากสาเหตุอะไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามาจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทำให้เกิดการชุมนุมในวันนี้ และที่ผ่านมารัฐบาลชี้แจงกับประชาชนน้อยเกินไป และขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าข้อเรียกร้องโค่นล้มระบอบทักษิณ ไม่ใช่นามธรรม และไม่ใช่ข้อเรียกร้องใหม่ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้นำมาสู่การปฏิวัติอย่างปี 49