xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ซัดกลับ “จาตุรนต์” ย้ำทำเพื่อ นศ.-บุคลากร ตามมติ ทปอ.ไม่มีใครสั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมคิด” งัดข้อกฎหมายโต้ “จาตุรนต์” ชี้ รธน.เปิดช่องยุบสภาตั้งรักษาการได้ คาดอ่าน รธน.เหมือนกันแต่มองคนละมุม พร้อมยกตัวอย่างสมัย “ทักษิณ” ก็เคยทั้งยุบสภา ลาออก ย้ำข้อเสนอ ทปอ.เป็นมติเอกฉันท์ร่วมกันของอธิการมหา’ลัย 27 แห่ง ไม่ใช่แค่อธิการ ม.ธรรมศาสตร์ ลั่นคนเป็นอธิการบดีต้องมองรอบด้าน ตัดสินเพื่อประโยชน์ นศ.และบุคลากร แต่ไม่ฟังคำสั่งใคร ขณะที่นักวิชาการด้านวิทย์ สนับสนุนข้อเสนอ ทปอ.ให้ยุบสภา และตั้งรักษาการ เสนอให้มีการเจรจา 2 ฝ่าย โดยมีคนกลาง อาทิ “อานันท์ ปันยารชุน-นพ.ประเวศ วะสี” เน้นประเด็นการตั้งสภา
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันนี้ (3 ธ.ค.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการศธ.ออกมาบอกว่าข้อเสนอของ ทปอ.ให้รัฐบาลยุบสภาและมีรัฐบาลรักษาการ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งยังระบุว่าการประกาศให้มหาวิทยาลัยหยุดเรียนและหยุดทำงานเป็นข้อเสนอของประธาน ทปอ.ว่า แถลงการณ์ของ ทปอ.วานนี้ (2 ธ.ค.) ซึ่งมีข้อเสนอดังกล่าวออกมานั้นเป็นมติเอกฉันท์ของ ทปอ.ซึ่งประกอบด้วย อธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่ง ไม่ใช่มติส่วนตัวของอธิการบดี มธ.เพียงคนเดียว ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและเห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาได้ตามมาตรา 108 และ ม.182(2) และ ม.181 ซึ่งระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่รับตำแหน่งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และแม้จะยุบสภาแล้วนายกฯ ก็สามารถลาออกได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามนายกฯหรือรัฐมนตรีลาออก ซึ่งการที่เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภา และลาออกโดยได้ตั้งรองนายกฯ ขึ้นมารักษาการแทน เห็นได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้อยู่แล้ว

“ในที่ประชุม ทปอ.ได้มีการพูดคุยใน 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก นายกฯ และ ครม.ทั้งคณะลาออก เหลือรัฐมนตรี ที่เป็นคนกลาง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไว้ 1 คน เป็นนายกฯแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ และแนวทางที่ 2.นายกฯ และ ครม.ลาออกทั้งคณะและให้ประธานวุฒิสภา เสนอชื่อนายกฯขึ้นโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ซึ่งทั้งสองแนวทางสามารถเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น คิดว่าการที่ นายจาตุรนต์ ออกมาบอกว่าข้อเสนอของ ทปอ.ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่านายจาตุรนต์ คงอ่านรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่น่าจะเป็นการมองคนละมุม” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ในส่วนของการประกาศหยุดเรียนและหยุดทำงานของ มธ.ทุกศูนย์นั้น ไม่ได้เป็นการทำตามคำสั่งใคร แต่ที่ต้องสั่งหยุดเพราะมีบุคลากรสอบถามและแจ้งเข้ามาว่าได้รับผลกระทบจากการในการเดินทาง ขณะที่อาจารย์จำนวนมากต้องเดินทางไปสอนที่ศูนย์ต่างจังหวัดด้วย ดังนั้น เพื่อไม่ให้การสอบและการเปิดเรียนของแต่ละศูนย์เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องสั่งปิดทุกศูนย์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ มธ.เท่านั้นที่ประกาศหยุดเรียนทุกศูนย์ แต่มีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งเช่นกันที่ประกาศปิดเรียน

ยืนยันว่าอธิการบดี ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร แต่ตัดสินใจโดยนึกถึงประโยชน์ของบุคลากรและนักศึกษาเป็นหลัก เพราะคนเป็นอธิการบดี ต้องมองให้รอบด้าน” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

เวลาประมาณ 16.00 น.ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมออกแถลงการณ์ต่อกรณีวิกฤตที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทย มีเนื้อหา ดังนี้ 1.สนับสนุนแถลงการณ์ของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ฉบับที่ 4 ที่ เสนอให้ “รัฐบาลยุบสภาและลาออก และในระหว่างยุบสภาจัดให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาบริหารประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และให้ยอมรับอำนาจศาลและองค์กรอิสระ 2.ควรมีการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล และคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและของทั้งสองฝ่าย เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน และ ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี โดยมุ่งประเด็นการตั้งสภาที่มีสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริง 3.ภารกิจการปฏิรูปประเทศไทยของสภาที่จัดตั้งขึ้น ให้มีเป้าหมายตามที่สรุปใน “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย : ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ที่เสนอโดย คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และ 4 ขอประณามและให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น