“หมอประดิษฐ” ปัดรัฐบาลสั่งใช้กระสุนจริงยิงกลุ่มผู้ชุมนุม เผยมีผู้ถูกยิงแล้ว 3 ราย สาหัสอยู่ ไอ.ซี.ยู.รพ.รามาฯ 2 ราย ซัดมาจากฝ่ายอื่นแน่นอน ขณะที่ผู้บาดเจ็บตลอดทั้งวัน รวม 94 ราย ยันไม่ได้สั่งห้าม อภ.หนุนน้ำเกลือ
วันนี้ (2 ธ.ค.) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข (ส่วนหน้า) ว่า จากเหตุการณ์การปะทะที่เกิดขึ้น มีรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค. เมื่อเวลา 16.00 น.ทั้งสิ้น 221 ราย เสียชีวิต 3 ราย แบ่งเป็นเหตุการณ์การปะทะที่บริเวณ ม.รามคำแหง จำนวน 71 ราย เสียชีวิต 3 ราย และเหตุการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 1 ธ.ค.จำนวน 56 ราย ส่วนวันที่ 2 ธ.ค.มีทั้งหมด 94 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริงจำนวน 3 ราย อาการสาหัสต้องพักอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู.โรงพยาบาลรามาธิบดี 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย ซึ่งคาดว่าเป็นสื่อมวลชน ถูกยิงเฉี่ยวที่บริเวณข้างหู แต่อาการปลอดภัยและกลับบ้านแล้ว สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำสีม่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดใส่ผู้ชุมนุม ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่าเป็นสารชนิดใด แต่เท่าที่รับการรักษาผู้บาดเจ็บ ยังไม่พบว่ามาด้วยอาการถูกสารพิษ แต่สาเหตุหลักที่พบยังคงเกิดจากแก๊สน้ำตา ส่วนที่บางรายมีอาการพุพองนั้น เพราะแก๊สน้ำตาเป็นผงเคมีสามารถเข้าได้ทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จึงทำให้เกิดแผลพุพองได้ และหากแก๊สน้ำตาสัมผัสกับเสื้อผ้าก็จะมีฤทธิ์กระตุ้นให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อถูกแก๊สน้ำตาต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วล้างน้ำออก สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อแก๊สน้ำตา คือผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลอดลมตีบ และหอบหืดได้จนเป็นอันตราย รวมถึงผู้ที่ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากตื่นเต้นจากเหตุการณ์ชุมนุมมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการส่งข้อความทางเครือข่ายสังคมออนไลน์โจมตีการทำงานของ สธ.โดยอ้างว่า นพ.ประดิษฐ สั่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระงับการบริจาคน้ำเกลือให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำไปช่วยผู้ชุมนุม และไม่ให้นำออกจาก อภ.ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยัง อภ.พบว่า ในวันที่ 1 ธ.ค.ได้ส่งน้ำเกลือให้ 2,500 ขวด วันที่ 2 ธ.ค.ได้ส่งให้ 2,500 ขวด และยาหยอดยา 1,000 ขวด
เมื่อถามถึงประเด็นนี้ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะสั่งการให้นำน้ำเกลือสนับสนุนกับทุกฝ่ายที่ร้องขอเข้ามา แต่ให้ อภ.ส่งน้ำเกลือมายังศูนย์ฯ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบหน่วยงานที่ร้องขอเข้ามา เพราะน้ำเกลือจะต้องใช้เฉพาะในหน่วยแพทย์เท่านั้นจึงจะเหมาะสม แต่เท่าที่พบคือมีการไปขอที่ อภ.ซึ่งไม่ถูกต้องตามระบบ หากต้องการความช่วยเหลืออุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถขอสนับสนุนได้ที่ศูนย์ฯเท่านั้น
“ส่วนการใช้กระสุนจริงนั้น รัฐบาลขอยืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้ใช้อาวุธอย่างอื่นนอกจากกระบอง โล่ และแก๊สน้ำตา เพราะฉะนั้น หากการบาดเจ็บที่เกิดจากอาวุธปืนนั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐแต่อย่างใด” รมว.สาธารณสุข กล่าว
รศ.นพ.สมศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.00 น.มีผู้ชุมนุมถูกนำส่งมาเข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาฯ 4 ราย ทั้งหมดเป็นเพศชาย ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง 2 ราย รายแรก เข้าที่ขาขวาทำให้กระดูกแตก เข้ารับการผ่าตัด รายที่ 2 เข้าที่หน้าอก กำลังผ่าตัด และกระสุนยาง 2 ราย รายแรกเข้าที่ท้องต้องเข้ารับการผ่าตัด รายที่ 2 เฉี่ยวที่ขา กลับบ้านแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนำส่งโรงพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บรู้สึกตัวดี นอกจากนี้ ได้มีการเก็บเสื้อผ้าผู้ชุมนุมที่ถูกสารสีม่วงไปตรวจสอบแล้ว ผลยังไม่ออก แต่ได้รับการแจ้งจากฝ่ายตำรวจว่าเป็นสีผสมสารระคายเคือง
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.30 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ที่นำส่ง รพ.วชิระ นั้นได้รับผลกระทบที่บริเวณดวงตาจากแก๊สน้ำตา ที่น่าสนใจคือคนไข้ส่วนใหญ่มีอาการผื่นคันที่ผิวหนัง โดยจากการสังเกตอาการคาดว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ฉีดสลับกับแก๊สน้ำตา ดังนั้น ทางแพทย์ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากตัวของผู้ป่วยมาตรวจวิเคราะห์ว่ามีการปนเปื้อนสารอะไรหรือไม่ โดยจากการรับผู้ป่วยพบว่ามีผู้ป่วยถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณกรามต้องนำไปตรวจเอกซเรย์ อีกหนึ่งรายคือผู้สื่อข่าวของต่างประเทศได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อมือ ทั้งนี้ทาง รพ.วชิระ จะนำรายชื่อผู้บาดเจ็บไปติดประกาศที่บอร์ดหน้าโรงพยาบาล เพื่อให้ญาติได้ตรวจสอบและรับตัวกลับไป
“ขณะเดียวกัน เป็นห่วงความปลอดภัยของโรงพยาบาล เนื่องจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งครั้งนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นจึงขอให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบช่วยเข้ามาดูแลความปลอดภัย เพื่อให้แพทย์ได้มีอิสระในการดูแลผู้ป่วยด้วย” ดร.พิจิตต กล่าว