xs
xsm
sm
md
lg

ไข 6 คำถามสารพัน “โรคต้อ” ที่คุณควรรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคเกี่ยวกับ “ดวงตา” ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันดี นอกจากอาการตาบอดแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคนั่นคือ “โรคต้อตา” ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่เชื่อได้ว่าแม้โรคต้อตาจะคุ้นหูและเป็นที่รู้จักกันมายาวนาน แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคเหล่านี้อาจยังไม่ลึกซึ้งนัก และยังมีความเชื่อและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่หลายประการ

ทั้งนี้ “ตาต้อ” เป็นคำรวมๆ เรียกโรคตาหลายชนิด ในความเป็นจริง คำว่า “ต้อ” แปลว่าโรคตาที่ทำให้ตามัว แต่มักใช้เรียกชื่อโรคตาหลายๆ ชนิดว่าต้อ ซึ่งโรคต้อแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน และมีเรื่องที่ควรทำความรู้และความเข้าใจ เพื่อรักษาตาของตนเองให้ปลอดภัยจากโรคต้อเหล่านี้มีอยู่ 4 ชนิดคือ

1.โรคต้อลม (Pinguecular) มีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้างๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

2.โรคต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

3.โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์ตาในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาวๆ บัง ส่วนมากมักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา

และ 4.โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาน้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้นจนกระทั่งกดขั้วประสาทตา ทำให้มีการเสียของลานสายตา การมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทในที่สุด

สำหรับคำถามหรือความเชื่อเกี่ยวกับโรคต้อต่างๆ นั้น ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้เรียบเรียงข้อมูลจากคู่มือสุขภาพตาดี สำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจัดทำโดยภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

1.โรคต้อลม สาเหตุเกิดจากลม และการใส่แว่นจะป้องกันโรคได้

อย่างที่กล่าวไปแล้วนั้นว่าสาเหตุของโรคต้อลมนั้นเกิดได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคแล้ว ยังจะทวีความรุนแรงของโรคสำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อลมอยู่แล้ว ให้มีอาการเคืองตามากขึ้นและลุกลามมากขึ้นด้วย ซึ่งแว่นตาจะสามารถช่วยป้องกันลมเฉพาะจากด้านหน้าได้เท่านั้น ยังมีโอกาสที่ลม ฝุ่น และแสงแดดจะสัมผัสกับดวงตาจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองมากยิ่งขึ้น ทางที่ดีคือควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้าๆ จะเป็นประโยชน์กว่า

2.โรคต้อเนื้อเกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อห้ามกินเนื้อสัตว์

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง เช่นกันอย่างที่กล่าวถึงโรคต้อเนื้อไปแล้วว่าเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง แม้จะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกินอาการประเภทเนื้อสัตว์แต่อย่างใด ที่สำคัญการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หลังลอกต้อเนื้อ ก็ไม่ได้ทำให้แผลเกิดอาการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่อย่างที่เข้าใจกัน สามารถกินได้ตามปกติ

3.ทุกคนมีสิทธิเป็นโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาที่มีลักษณะใสมีสีขาว หรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมนุษย์ทุกคนอายุมากขึ้นก็จะเกิดอาการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาทุกคน เมื่อความขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาตามัวก็จะเรียกว่าเป็นต้อกระจก ทุกคนจึงมีสิทธิเป็นโรคต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุน้อยหรือมากซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

4.โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดตารักษาให้หายได้

ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยากินที่สามารถรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาดได้ การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด หรือเรียกว่าการลอกต้อ โดยเอาเลนส์ธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก อาจใช้วิธีการดันออก หรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายออกก็ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของจักษุแพทย์ แต่ยังไม่มีการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก

5.โรคต้อหินเป็นแล้วต้องผ่าตัดอย่างเดียว

ความจริงแล้วโรคต้อหินเองก็มีหลายชนิด การรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตา หรือกินยาลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตาออก ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา

และ 6.โรคต้อต่างๆ เป็นโรคทางกรรมพันธุ์

โรคต้อลมและต้อเนื้อเป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์ตาตามสภาพ ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่นกัน แต่โรคต้อกระจกในเด็กหรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคต้อหินเป็นเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน 40 ปี ควรได้รับการตรวจวัดความดันตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้
 



กำลังโหลดความคิดเห็น