กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้า “โครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” ขยายความคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น เน้นตลาดต้องสะอาด น่าเดิน พื้นต้องไม่เปียกหรือสกปรก อาหารต้องปลอดภัยจากสารปนเปื้อน ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง สินค้าที่ซื้อสามารถนำไปตรวจสอบสารปนเปื้อนได้
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการร่วมขบวนรณรงค์ “โครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” ที่ตลาดนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” ซึ่งจะต้องมีการรณรงค์ให้ครอบคลุมถึง “ตลาดสด น่าซื้อ” เหมือนสมัยก่อนโดยการดำเนินงานตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย จะคำนึงถึงหลักโภชนาการที่เน้นให้ผู้ประกอบการใส่ใจในการปรุงประกอบอาหาร เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ วัสดุที่นำมาใช้ปรุงประกอบอาหารให้กับผู้บริโภค ซึ่งคำว่า “ตลาดสะอาด” คือบริเวณโดยรอบ สภาพแวดล้อมตลาดต้องสะอาด ให้เป็นตลาดที่น่าเดิน คนซื้อไม่ต้องระมัดระวังในเรื่องพื้นที่เปียกหรือสกปรก ส่วนเรื่อง “อาหารปลอดภัย” จะเป็นอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและถูกหลักอนามัย ซึ่งถูกหลักโภชนาการคือต้องเป็นเรื่องอาหารครบ 5 หมู่ ส่วนถูกหลักอนามัยคืออาหารที่สะอาด ไม่มีสิ่งเจือปน ไม่มียาฆ่าแมลงในพืชผัก ผลไม้ต่างๆ นี่คือที่มาของคำว่าตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครการรณรงค์ “โครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” เริ่มที่ตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดแรก และจะมีการรณรงค์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตลาดนัดที่ขณะนี้พบว่าเป็นปัญหามากที่สุด เพราะไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของตลาดในการดูแลจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนนิ่งอาหาร เช่น ร้านขายอาหารสดไม่ควรอยู่ใกล้ร้านขายเสื้อผ้า เพราะจะดูไม่เหมาะสม รวมถึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย ขณะนี้ได้เริ่มลงพื้นที่จังหวัดต่างๆในการขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ เจ้าของตลาด เพื่อช่วยกันในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าโครงการรณรงค์ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เป็นการดำเนินงานที่ต่อยอดมาจากโครงการตลาดสดน่าซื้อ ทั้งนี้เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดความครอบคลุมมากขึ้นไม่เฉพาะแค่ตลาดสดเท่านั้น โดยการดำเนินการโครงการครั้งนี้ตลาดต้องปลอดภัยจากสารปนเปื้อนใน 6 ชนิด ได้แก่ ปลอดยาฆ่าแมลง ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ปลอดสารกันเชื้อราที่เกินมาตรฐานกำหนด ปลอดสารฟอกขาวที่ใช้สำหรับใส่ในถั่วงอกสารที่ทำให้ขาวมากๆ ปลอดฟอร์มาลีนที่ใช้ในการแช่ล้างผักให้สดสะอาด และปลอดสารบอแรกซ์ เพราะสารดังกล่าวเป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคทางเดินอาหาร และโรคทางเดินหายใจ รวมถึงเข้าไปทำลายระบบสมองด้วย หากปลอดสารดังที่กล่าวมาจะทำให้อาหารปลอดภัย โดยโครงการนี้ได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่วมกับการประเมินตลาดที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีทั้งหมด 1,500 แห่ง ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินแล้วบางส่วนประมาณร้อยละ 80
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยสามารถสังเกตตลาดที่เข้าร่วมโครงการ หากตลาดผ่านเกณฑ์ในระดับดี เปลี่ยนเป็นระดับดีมาก จะมีมุมบริการตรวจสอบสินค้าไว้สำหรับผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบสินค้าที่ซื้อมาว่าปลอดภัยหรือไม่ เช่น หากผู้บริโภคจะซื้อผักสัก 1 อย่าง สามารถนำผักมาทดสอบได้ด้วยตนเอง เพื่อตรวจสอบดูว่าผักที่ซื้อมามีสารใน 6 ชนิดที่กล่าวหรือไม่ หากตรวจพบสารดังกล่าวตลาดที่เข้าร่วมโครงการจะถูกถอดออกจากโครงการและถูกถอดออกจากตรา ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เช่นเดียวกัน
อธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการ “ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” นั้นเริ่มต้นที่ตลาดต้องสะอาด โดยอันดับแรกจะต้องผ่านเกณฑ์ระดับดีก่อน จากนั้นมาถึงเรื่องอาหารปลอดภัยคือต้องมีการตรวจหาสารทั้ง 6 ชนิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่วนใส่ใจผู้บริโภคคือปลอดภัยจากสารปนเปื้อนทั้ง 6 ชนิดในระดับดีเยี่ยมหรือดี ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะต้องร่วมมือกันทั้งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาลที่มีส่วนในการประเมินตลาด เพื่อทำให้ตลาดที่เข้าร่วมโครงการสามารถสู้กับตลาดนัดและตลาดติดแอร์ได้ และกลายเป็นแหล่งที่มีประชาชนหลั่งไหลมาซื้ออาหารมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดสดที่ความสะอาด ปลอดภัยและมีการคุ้มครองผู้บริโภค
“จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการตลาดสดทั้งที่เป็นเทศบาลและเอกชน เข้าร่วมโครงการ“ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมอนามัย โทร 02 590 4000 จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับโครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวปิดท้าย
• 5 เหล็กไทยจัด “ฅนเหล็กมินิมาราธอน 2556” รายได้ 2.4 ล้าน มอบ 22 องค์กรผู้ด้อยโอกาส
ผู้บริหารกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วย นางสาววรรณา ตั้งเจริญจริง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) (TCRSS) นายสมเกียรติ ปินตาธรรม ประธานบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด (NS Blue Scope) นายฮิโรอะกิ ซาโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด (SUS) และนายอะคิฮิโกะ โอตะ ประธานบริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (NSGT) ในฐานะองค์กรผู้ร่วมจัดการแข่งขัน เดิน-วิ่ง การกุศล ฅนเหล็กมินิมาราธอน ครั้งที่ 6 “Thailand Iron Man Mini Marathon 2013” ร่วมมอบเงินรายได้ จากการจัดการแข่งขัน โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จำนวนกว่า 2.4 ล้านบาท แก่ มูลนิธิ หน่วยงานผู้ดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส 22 แห่ง ณ สวนลุมพินี เมื่อเร็ว ๆ นี้
•กรมวิทย์ฯ มอบชุดตรวจสารปนเปื้อนแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.พานทอง จ.ชลบุรี
ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มและอาหาร - นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี มอบถุงยังชีพ และจัดส่งรถโมบายแล็บเคลื่อนที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มและอาหาร เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคหลังประสบภัยน้ำท่วม
•กรมอนามัยเสวนา เรื่อง ผู้ชายอยู่ที่ไหน เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม
ผู้ชายอยู่ที่ไหน เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม – ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และ นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมด้วย พิธีกรรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง และคณะฯร่วมงานเสวนา เรื่อง ผู้ชายอยู่ที่ไหน เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม ณ โรงแรมนารายณ์ สีลม กทมฯ
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)