xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนนางเลิ้งปัญหา “ไร้สถานะไร้สิทธิ” เพียบ นัก กม.ร้อง กทม.เร่งช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มนักกฎหมายเข้าพบ “ผุสดี” จี้สางปัญหาสถานะบุคคล-สิทธิประชาชน หลังพบชุมชนนางเลิ้งมีปัญหาเพียบ ทั้งบุคคลไร้สัญชาติ ไร้รัฐ ขาดบัตรประชาชน ขอทุนการศึกษาไม่ได้ ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ ด้าน กทม.ปลอบทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดย ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ.และตัวแทนชุมชนนางเลิ้ง เข้าพบ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อนำเสนอและปรึกษาปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล ในชุมชนนางเลิ้ง

น.ส.สายชล สิมะกุลธร ตัวแทนโครงการ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิทธิและสถานะของบุคคลในชุมชนนางเลิ้งที่สำรวจพบขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 5 กรณี ได้แก่ 1.นางสมหวัง ด้ามทอง อาชีพรับจ้างซักรีดผ้า เป็นกรณีศึกษาที่จัดอยู่ในประเภทบุคคลไร้รัฐ และไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่หลักฐานแสดงตัวใดๆ ไม่มีบัตรประชาชน และไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในรัฐใดๆ รวมถึงระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรจากสำนักงานเขตป้อมปราบฯ ทั้งที่เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ใน จ.สิงห์บุรี และย้ายเข้ามาอยู่ในตลาดนางเลิ้งมากว่า 55 ปี แต่ไม่ทราบว่าได้รับการแจ้งเกิดหรือไม่ เพราะไม่ทราบชื่อบิดา ส่วนชื่อจริงตั้งโดยนายสนิท และนางประจวบ เหมาคม พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาสุขภาพตาพร่ามัว ไม่แน่ใจว่าเป็นต้อหรือไม่ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลครั้งละพันกว่าบาท จึงจำเป็นต้องดำเนินการขอบันทึกชื่อในทะเบียนประวัติทร38ก และทำบัตรบุคคลไร้สถานะ ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติต่อไป เช่น สืบค้นเอกสารที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และหาพยาน ซึ่งเบื้องต้นกรณีปัญหาขาดสิทธิบริการสุขภาพ อาจต้องขอความร่วมมือจาก กทม.เพื่อบริการสุขภาพเบื้องต้น

น.ส.สายชล กล่าวอีกว่า กรณีที่ 2 นายธวัช ปะพรรดิ์ศร และ น.ส.ศรีรัตน์ ปะพรรดิ์ศร กรณีศึกษาบุคคลไร้ความสามารถที่ไร้บัตรประชาชน และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากรัฐ เพราะมีสุขภาพจิตไม่ดี ทั้งที่ตรวจสอบทางแล้วพบว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎร แต่ขาดบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อพกพา จึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเรื่อง การตรวจและรักษา บัตรประชาชน และบัตรผู้พิการ กรณีที่ 3 นางอรนาถ อ่อนนุ่ม อายุ 56 ปี ปัจจุบันไร้อาชีพใดๆ เพราะถูกตัดขาข้างขวาเนื่องจากอาการของโรคเบาหวาน และไม่มีขาเทียม โดยอาศัยอยู่กับ น.ส.อ้อ สืบพงษ์ ลูกสาว กำลังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาสายตาฝ้าฟางและยารักษาเบาหวาน ซึ่งต้องไปรักษาด้วยตัวเองตามคลินิก หรือ รพ.หัวเฉียว เพราะขาดสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้พิการตามสิทธิของคนไทย

น.ส.สายชล กล่าวต่อว่า กรณีที่ 4 ด.ญ.วาเรณรัตน์ สืบพงษ์ เด็กในอุปการะอีกคนของ น.ส.อ้อ ปัจจุบันเรียนในโรงเรียนวัดอินทรวิหาร แต่ขาดทุนการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากไร้ และยังขาดบัตรประชาชน ซึ่งเคยมีญาติของนางอรนาถเก็บไว้ แต่ขาดการติดต่อมานาน จึงทำให้ ด.ญ.วาเรณรัตน์ ยังไร้บัตรประชาชนของเด็ก จึงต้องเร่งช่วยเหลือเรื่องบัตรและการขอทุนการศึกษา และกรณีที่ 5 นายสุรศักดิ์ ชัยพร บุคคลไร้รัฐ และไร้สัญชาติ ทราบว่าเกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ที่ รพ.หญิง หน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท หรือ รพ.ราชวิถี ในปัจจุบัน แต่ไม่ทราบข้อมูลบิดา ต่อมาทราบจากเพื่อนบ้านว่า เป็นบุตรของ นางบุญเลี้ยง สำแดงอำนาจ หรือป้าอ้วน หญิงชราที่ไร้บัตรประชาชน และไร้สิทธิการรักษาสุขภาพ รวมทั้งไร้สิทธิในการรับเบี้ยผู้พิการ

จาก 5 กรณีที่นำเสนอ อยากให้ กทม.เข้าใจว่า ที่ผ่านมามีกรณีของผู้มีปัญหา สถานะและสิทธิหลายคนที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิ บางรายติดขัดเรื่องความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ บางรายติดอคติ จึงอยากให้ กทม.มีการดำเนินการช่วยเหลือทั้งระยะยาวและระยะสั้นเพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย กรณีป้าอ้วน ที่ไร้สิทธิจนเสียชีวิต” น.ส.สายชล กล่าว

ด้าน นางเจิมมาศ กล่าวว่า เบื้องต้นขอให้ทางทีมงานได้ส่งประวัติบุคคลที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ก่อน เช่น กรณี ด.ญ.วาเรณรัตน์ อาจจะขอรายละเอียดเพื่อเสนอขอทุนการศึกษาสำหรับผู้ยากไร้ จาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมอบเป็นปีการศึกษาประมาณ ปีละ 2,000 บาท และกรณีของผู้พิการขาขาด อาจประสานกับ รพ.หัวเฉียว เพื่อช่วยบริการสุขภาพแก่คนยากไร้ ในกรณีที่ไปรับบริการทางโรงพยาบาล

ดร.ผุสดี กล่าวว่า จากคำสั่งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้เคยให้นโยบายไว้แล้วว่าเรื่องปัญหาบัตรประชาชนและสถานะบุคคล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน แต่กรณีการเกิดอคติของเจ้าหน้าที่บางราย อาจเพราะยังเชื่อเกรงกลัวทำผิด กฎ ระเบียบ และขั้นตอนของข้าราชการ จึงประหม่า แต่ขอให้เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนของกรณีแต่ละคน แต่ต้องอาศัยเวลา ทั้งนี้กรณีที่โครงการบางกอกมีข้อเสนอแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องการสำรวจสถานะของคนเมืองนั้น ทาง กทม.ขอยืนยันว่า คนในชุมชนทุกชุมชน ที่สังกัด กทม.สามารถยื่นเรื่องได้ตามกฎหมาย แต่ต้องมีหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น