xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ศิริราชสุดเจ๋ง คว้ารางวัลศูนย์ธาลัสซีเมียโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รพ.ศิริราช” คว้ารางวัลศูนย์ธาลัสซีเมียโลก ประเภทสถาบันโรคโลหิตจางฯ ดีเด่น จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่ห้องประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ตึกอำนวยการชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว “ครั้งแรกของโลก ศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี รับรางวัล SITA โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย จากมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ สุลตาน บินคาลิฟา อัล นายาน (H.H Sheikh Sultan Bin Kalifa AL Nahyan) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการจัดตั้งรางวัล SITA ขึ้นในปี 56 เป็นปีแรก นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลประเภทสถาบัน(Center of Excellence) ที่มีการคัดเลือกจากสถาบันการแพทย์กว่า 300 แห่งทั่วโลกโดยศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช เป็นสถาบันแห่งแรกที่ได้รับการยกย่อง รวมถึงรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี อาจารย์ด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช ในฐานะผู้สร้างสรรค์วิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียมาอย่างยาวนาน

สำหรับศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช เป็นสถานที่ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เริ่มตั้งแต่การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในประชากร การให้คำปรึกษาทางเวชพันธุศาสตร์ การวินิจฉัยก่อนคลอดบุตร รวมถึงนวัตกรรมการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRT-T2) เพื่อหาภาวะเหล็กเกินในตับและหัวใจ การให้เลือดการให้ยาขับเหล็กจนกระทั่งการรักษาให้หายขาด โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกและการทำยีนบำบัดในอนาคต ซึ่งการบริการดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรระดับโลก ISO 15189

นอกจากนี้ ในงานประชุมดังกล่าวยังมอบรางวัลให้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ปูชนียาจารย์ด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยเป็นรางวัลประเภทบุคคล ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียอย่างยาวนาน เนื่องจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ เป็นผู้ทำวิจัยถึงกลไกการเกิดโรคทางพันธุกรรม ที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งนำไปสู่การป้องกันรักษา ผลงานวิจัยของท่านเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ และยังได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งเกือบทุกทวีปทั่วโลก และยังมีบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศมากกว่า 200 เรื่อง รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานด้านอณูพันธุศาสตร์ของอัลฟ่าและเบต้าธาลัสซีเมีย และนำไปสู่การดูแลผู้ป่วยในทางคลินิก จึงนับมีคุณประโยชน์มากมาย” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

อ.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ประธานธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช กล่าวว่า แม้โรคนี้จะอยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรม แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ หากทุกฝ่ายช่วยกันคณะแพทยศาสตาร์ศิริราชพยาบาลจึงจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านธาลัสซีเมียขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบสุขภาพธาลัสซีเมีย” ซึ่งได้ทำการตรวจคัดกรองประชากรไปแล้วกว่า 1 แสนราย ตรวจวินิจฉัยระดับอณูพันธุศาสตร์ไปแล้วกว่า 2,500 คู่

รศ.นพ.วิปร วิประกษิต กรรมการอำนวยการศูนย์ธาลัสซีเมีย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยเป็นพาหะประมาณร้อยละ 35 หรือประมาณ 18-20 ล้านคน ส่วนคนที่เป็นโรคมีประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 7 แสนคน อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงประมาณ 4-5 หมื่นคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจคัดกรองไปแล้วกว่าแสนราย โดยให้การวินิจฉัยก่อนคลอด และตรวจวินิจฉัยในระดับอณูพันธุศาสตร์แก่คู่สมรสที่เป็นคู่เสี่ยงแล้วกว่า 2,500 คู่ สำหรับการรักษาโรคนี้ ขณะนี้มีการวิจัยพัฒนายีนบำบัด โดยใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา แต่อยู่ระหว่างวิจัยโดยร่วมกับทีมวิจัยสหรัฐฯ โดยจะเริ่มทำในผู้ป่วยคนไทยคนแรกในเดือนมกราคมปี 2557 และคาดว่าการรักษานี้จะสำเร็จเป็นที่ยอมรับไม่เกิน 10 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น