xs
xsm
sm
md
lg

เทคนิคใหม่ปลุกรังไข่ "หญิงวัยทอง" ช่วยให้มีบุตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.คาสึฮิโระ คาวามุระ สูตินรีแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้เป็นหนึ่งในทีมวิจัยขณะอุ้มทารกน้อยแรกเกิด
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วหรือที่เรียกกันติดปากว่า "วัยทอง" จะไม่สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ แต่จากงานวิจัยล่าสุด แพทย์สามารถช่วยหญิงสาวที่หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรให้สามารถมีบุตรได้สำเร็จ

ผลงานวิจัยที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคู่สามีภรรยาที่มีปัญหาในการมีบุตรนี้เปิดเผยในวารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐ (Proceedings of the National Academy of Sciences : PNAS) ซึ่งเป็นผลงานของทีมแพทย์และนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์มาเรียนนา (St Marianna University School of Medicine) ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐฯ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการย้ายรังไข่ การกระตุ้นการเจริญของเซลล์ไข่ในห้องปฏิบัติการ และการปลูกฝังเนื้อเยื่อรังไข่กลับเข้าไปในร่างกายของคนไข้เจ้าของรังไข่

ในการวิจัยครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาในคนไข้หญิงจำนวน 27 รายที่เป็นหมันหรือไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 30 ปี อันเนื่องมาจาก "ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร" (primary ovarian insufficiency : POI) ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ (เช่น ความผิดปกติของพันธุกรรม, การผ่าตัดรังไข่, การติดเชื้อ, รังสีรักษา, เคมีบำบัด, โรคบางชนิด, การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ทราบสาเหตุ) และส่งผลให้คนไข้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองเร็วกว่าปกติ และจะพบประมาณ 1% ของสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

ทั้งนี้ ผู้หญิงทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับไข่ที่มีจำนวนแน่นอน แต่หญิงที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรมีแนวโน้มว่าผลิตไข่หมดเร็วเกินไป หรืออาจมีไข่จำนวนน้อยมากตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งไข่ที่อยู่ในรังไข่นั้นจะเป็นไข่อ่อน ซึ่งถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงไข่ (follicle) ในแต่ละเดือนจะมีไข่เพียง 1 ใบเท่านั้นที่เจริญเติบโตเต็มที่และจะหลุดออกจากรังไข่ผ่านท่อนำไข่ไปสู่มดลูก ที่เรียกว่า "ตกไข่"

ในงานวิจัยนี้ ทีมแพทย์ได้ทำการผ่าตัดเอารังไข่ออกมาจากคนไข้หญิงในกลุ่มตัวอย่าง และใช้เทคนิคสองอย่างร่วมกันในการกระตุ้นการทำงานของถุงรังไข่ หรือการปลุกถุงไข่ให้ตื่นจากการหลับใหลนั่นเอง โดยเทคนิคแรกเป็นการตัดรังไข่ออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในอดีตในการรักษาเกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์ แล้วกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ด้วยสารเคมีบางชนิด หลังจากนั้นจึงนำชิ้นส่วนของรังไข่ปลูกถ่ายกลับเข้าไปใหม่ในบริเวณเหนือสุดของท่อนำไข่ และให้ฮอร์โมนที่จำเป็นแก่หญิงสาวแต่ละคนร่วมด้วย

ภายหลังการปลูกถ่ายรังไข่กลับเข้าไปใหม่ พบว่าเริ่มมีการเจริญของถุงไข่ในหญิงสาว 8 ราย ซึ่งนักวิจัยได้ทำการเก็บไข่ออกมาเข้ากระบวนการปฏิสนธินอกร่างกายและนำกลับเข้าไปฝังไว้ในครรภ์ตามลำดับ และในที่สุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งในกรุงโตเกียวก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศชาย 1 คน จากการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าว และหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่ร่วมในโครงการนี้ก็กำลังตั้งครรภ์ในตอนนี้ด้วยเช่นกัน

"วิธีนี้จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราประเมินกันว่าน่าจะช่วยได้เพียง 25-30% ของผู้หญิงที่มีภาวะดังกล่าว เราคิดว่าน่าจะให้ผลได้ในคนไข้ 2 กรณี คือ คนไข้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งภายหลังรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ซึ่งถ้าหากยังมีถุงไข่หลงเหลืออยู่ ก็มีโอกาสที่จะช่วยได้ และอีกกรณีหนึ่งก็คือ หญิงสาวที่มีอายุระหว่าง 40-45 ปี ที่มีรอบเดือนผิดปกติ" ศาสตราจารย์แอรอน ชูฮ์ (Prof Aaron Hsueh) ทีมวิจัยจากสแตนฟอร์ดกล่าวแก่บีบีซีนิวส์

ทั้งนี้ ความหมายของสตรีที่หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ขณะเดียวกันเทคนิคการรักษาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการทดสอบเพิ่มเติมและกรั่นกรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะนำไปใช้จริงในทางเวชปฏิบัติ

ศาสตราจารย์ชาร์ลส คิงส์แลนด์ (Prof Charles Kingsland) จากโรงพยาบาลหญิงลิเวอร์พูล (Liverpool Women's Hospital) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal College of Obstetricians and Gynaecologists) กล่าวว่า นั่นเป็นวิธีการที่แยบยลจริงๆ แต่จะให้ผลกับทุกคนหรือเปล่านั้น ยังไม่มีใครทราบได้

"มันเป็นไปได้จริงๆ จริงแท้แน่นอนและน่าสนใจมาก แต่เราจำเป็นต้องค้นคว้าให้มากกว่านี้เพื่อยืนยันว่านี่ไม่ใช่การเริ่มต้นที่ผิดพลาด ผมพบเจอคนไข้ที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรเป็นประจำที่คลินิกของผม ซึ่งหากวิธีนี้ให้ผลดีในระยะยาว มันจะเป็นสิ่งที่เราสนใจ" ศาสตราจารย์คิงส์แลนด์กล่าว

ทางด้านศาสตรจารย์นิค แมคคลอน (Prof Nick Macklon) จากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน (University of Southampton) ให้ความเห็นว่า การค้นพบหนทางใหม่ที่ทำให้ได้ไข่กลับมาใหม่โดยการปลุกถุงไข่ให้ตื่นขึ้นมาทำงานได้อีกครั้งเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ มันทำให้เกมพลิกได้เลย

"มันมีนัยสำคัญมากและเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นมากๆ แต่มันยังไม่พร้อมสำหรับนำไปใช้ในทางการแพทย์ ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลการทดลองที่มีการควบคุมโดยสุ่มตัวอย่างที่ดี" ศาสตราจารย์แมคคลอนกล่าวและให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากดำเนินตามเทคนิคดังกล่าวนอกเหนือจากงานวิจัยนี้ไม่สามารถทำได้ แต่การศึกษาทำความเข้าใจที่ลึกลงไปถึงกลไกของการพัฒนาของไข่ จะสามารถนำไปสู่การรักษาด้วยยาแบบใหม่ได้







ศ.แอรอน ชูฮ์ (ซ้าย) หวังว่าเทคนิคที่พวกเขาพัฒนาขึ้นนี้จะสามารถช่วยรักษาสตรีที่เป็นหมันจากการรักษามะเร็งให้สามารถมีบุตรได้
เทคนิค การปลุกรังไข่ เป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยให้สตรีในวัยทองก่อนกำหนดสามารถ ตั้งครรภ์และให้กำเนิดทายาทได้ (เครดิตภาพ telegraph.co.uk)
กำลังโหลดความคิดเห็น