xs
xsm
sm
md
lg

เด็กกู้ต้องอ่าน! มหากาพย์ชักดาบเงินกู้กยศ. หมดเวลาสนุกแล้วสิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ใช่เพิ่งลุกขึ้นมาตีปี๊ปเรื่องเงินกู้ยืมเรียน แต่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ทำมาตลอดหลายปีแล้ว แต่ปีหลังๆ มานี้ เริ่มถังแตก เพราะเบี้ยวหนี้อื้อ ล่าสุดพบเบี้ยวสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จนต้องคลอดแนวทางเอาจริง หากค้างจ่ายหนี้ 5 ปี จะส่งชื่อเข้าเครดิตบูโร และไม่สามารถทำธุรกรรมทางเงินกับสถาบันการเงินใดๆ ได้เลย

มหากาพย์ชักดาบเงินกู้กยศ. ที่ยืดเยื้อมานาน คงจะหมดเวลาสนุกแล้วสิ..

ปล่อยจนเสียนิสัย ถึงเวลาเอาจริง!

คงจะสุดๆ เต็มทีแล้ว กับกรณีบัณฑิตเบี้ยวหนี้ที่กลายเป็นมหากาพย์กยศ. ต้องตามทวง และโชว์ยอดเบี้ยวหนี้กันทุกปี ยิ่งพอมาดูยอดหนี้ล่าสุดที่ทาง กยศ. เปิดให้ดู ก็ยิ่งพบความน่าตกใจ เพราะมียอดค้างกว่า 1.485 ล้านราย เป็นวงเงินกู้ 136,237 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ทั้งหมด 2.15 ล้านราย วงเงินกู้ 194,711 ล้านบาท ถือเป็นยอดเบี้ยวหนี้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ กยศ. ค่อยๆ ถังแตก และอาจต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่องในอนาคต เพราะบัณฑิตที่กู้ยืมเงิน ไม่ผ่อนชำระคืน ในขณะที่ กยศ. ต้องปล่อยกู้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษารายเก่าจนกว่าสำเร็จการศึกษา ส่วนนักศึกษาใหม่ที่จะได้ก็จะมีจำนวนรายลดน้อยไปด้วยเพราะ กยศ.ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้แก่ผู้กู้ได้ครบทุกราย

ล่าสุด หากใครได้ติดตามข่าว หลังๆ มานี้มีการกระพือข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมาก สุดท้ายก็คลอดแนวทางออกมาแก้ปัญหาอย่างเอาจริง เห็นได้จากมติบอร์ด กยศ.ล่าสุด (27 ส.ค.2556) โดยมีอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สั่งแก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัด โดยมีแนวทางสรุปง่าย ๆ ดังนี้

- กรณีที่ผู้กู้ที่ไม่เคยมีประวัติติดหนี้ค้างชำระเลย หากนำเงินมาชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมด หรือปิดบัญชี จะได้รับส่วนลดพิเศษ 3.5% จากยอดเงินคงเหลือ

- กรณีที่ ผู้กู้มีหนี้ค้างชำระ นำเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด หรือปิดบัญชี จะได้รับการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยปรับลง 50% ซึ่งปัจจุบัน กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ปกติ แต่หากเป็นผู้หนี้ผิดนัดชำระหนี้ เกิน 12 เดือนจะคิดเบี้ยปรับ 18% ต่อปี

- กรณีที่ผู้กู้มีเงินไม่เพียงพอ แต่ขอกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดี กยศ.จะงดคิดอัตราดอกเบี้ยปรับตั้งแต่งวดที่ค้างชำระหนี้ เช่น ในปีนี้ ครบกำหนดชำระหนี้ วันที่ 5 ก.ค.จนถึงปัจจุบัน ค้างชำระหนี้มาเป็นระยะเวลา 1 เดือน ก็จะไม่ถูกเรียกเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ย 12% กรณีค้างไม่เกิน 12 เดือน ส่วนกรณีที่ค้างเกินกว่า 12 เดือนจะเสียดอกเบี้ยขึ้นเป็น 18% สำหรับมาตรการนี้ จะเปิดให้ผู้กู้สมัครใจเข้าแก้ไขหนี้กับ กยศ.ตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้ จนถึงเดือน มี.ค.ปี 57

ส่วนการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์กับเครดิตบูโรนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ หากผู้กู้ไม่ชำระหนี้เกิน 5 ปี ถึงจะขึ้นแบล็กลิสต์ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่เข้มงวด เพราะผู้กู้จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางเงินกับสถาบันการเงินใดๆ ได้

"ผู้กู้เงินจาก กยศ.ต้องมาติดต่อ กยศ.ระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงมีนาคมปีหน้า จึงจะได้รับเงื่อนไขตามที่ประกาศ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ กยศ.สามารถจัดการกับปัญหาหนี้คงค้างได้ในคราวเดียว เพื่อความชัดเจนด้านฐานะทางการเงิน และลดภาระการติดตามทวงหนี้ เพื่อจะได้เดินหน้ากับเกณฑ์ใหม่ ที่อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เพื่อการจัดส่งรายชื่อของผู้กู้เงินจาก กยศ.ไปให้เครดิตบูโร ในกรณีที่ไม่ชำระหนี้ กยศ.ใน 5 ปี หลังครบกำหนด จะถูกประกาศรายชื่อในเครดิตบูโร ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในปีการศึกษาหน้า" นายอารีพงศ์กล่าว

ชักดาบเงินกู้! สะท้อนอะไรในตัวบัณฑิตไทย

ลึงลงไปถึงปัญหาเงินกู้ยืมเรียน แล้วไม่ชำระหนี้คืน กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ บัณฑิตหลายคนจบออกไปแล้วไม่ใช้เงินคืน บางคนเข้าไปผ่อนผันเพราะยังไม่มีงานทำ หรือบางคนมีงานทำแล้ว แต่ชำระหนี้คืนมาบางส่วน ซึ่งตรงนี้อาจพอรับได้

แต่ในกรณีที่ชักดาบหนีหนี้ เพราะคิดว่า "ไม่ใช้คืนก็ไม่เป็นไร" ดูจะเห็นแก่ตัวเกินไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนนำเงินไปซื้อสิ่งของหรือนำไปใช้อย่างอื่นแทนที่จะนำเงินมาชำระหนี้คืน เกิดเป็นวัฒนธรรมชักดาบจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่คิดถึงบุญคุณเงินกู้ยืมเรียนที่ช่วยส่งเสียให้เรียนจนจบ ทำให้รุ่นน้องหลาย ๆ คนเสียโอกาสในการกู้เงินเรียน เนื่องจากทางกองทุนฯ ค่อยๆ ประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เคยมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายท่านด้วยกัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมและความรับผิดชอบของเด็กไทย ซึ่งไม่เพียงแต่การเลี้ยงดูจากครอบครัวเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากบริบททางสังคมด้วย

ยกตัวอย่างความเห็นของ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนักวิชาการท่านนี้มองว่า ทุกวันนี้จะเห็นโพลต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่คนในสังคมไทยกลับรู้สึกว่า มันปกติ รู้สึกเฉยๆ ไม่มีใครเดือดร้อน จึงไม่แปลกที่เด็กกู้เงินเรียนแล้วมีความรู้สึกว่า คืนหรือไม่คืนก็ไม่เป็นอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมของการยอมรับได้ในสังคม

ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบาย ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องทบทวนหลักสูตร และผลิตบัณฑิตไม่ให้มีเชื้อโกงอย่างที่ ผศ.ดร.วิรัช อยากเห็นมหาวิทยาลัยมีความพยายามที่จะสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในระบบการเรียนการสอนให้มากขึ้น เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ควรผลิตคนประเภทนี้ออกไปสู่สังคม

รุกแก้ปัญหาเด็กจนเข้าไม่ถึงทุน

อีกหนึ่งปัญหาที่หากเจาะลึงลงไป นอกจากการเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืมเรียนแล้ว คือคนจนจริง ๆ มักไม่มีโอกาสเข้าถึงทุน ส่วนหนึ่งมาจากบางคนไม่ค่อยเปิดเผยตัว เพราะอายเพื่อน ส่วนอีกกลุ่มก็ถูกเอาเปรียบจากเด็กที่ไม่ได้จนจริง แต่รู้ช่องทางการขอทุนต่างๆ เพื่อเอาเปรียบเด็กด้อยโอกาส

เรื่องนี้ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม เคยออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา และวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นฝ่ายรุก และหาโอกาสเข้าถึงและช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว และพ่อแม่ผู้ปกครองที่รู้ปัญหาดี ควรเป็นฝ่ายรุกแก้ปัญหา ไม่ใช่มัวแต่ตั้งรับปัญหา

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส ช่วงรอยต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอุดมศึกษา อาจจะให้ทุนเรียนอย่างต่อเนื่อง หรือให้กู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ย ให้ครูประจำชั้นและครูแนะแนวเป็นผู้บริหารกองทุนนี้ เนื่องจากจะรู้ปัญหาของเด็กแต่ละคนว่ายากจนแค่ไหน มีอุปสรรคในการศึกษาต่อหรือไม่

นี่คือสิ่งที่นักวิชาการท่านนี้เคยฝากเอาไว้ด้วยความห่วงใย เพราะการลงทุนสำหรับการศึกษาในยุคสมัยนี้ มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่พยายามจะหาแต่กำไรจากเด็ก อาจทำให้เด็กต้องไปหาไซด์ไลน์ ทำงานพิเศษ โดยเฉพาะงานที่ไม่พึงประสงค์และเสี่ยงต่อการขายบริการทางเพศ หรือบางคนก็อาจจะสอบได้แล้วไม่ได้เรียนต่อ หรือไม่ก็ต้องอยู่ในภาวะซึมเศร้าจนต้องก่อเหตุร้ายแรงในอนาคต อย่างกรณีข่าวอันน่าสลดใจที่หากใครยังจำกันได้ นักเรียนสาว ม.6 พ่อแม่ยากจนแต่สอบติด ม.ศิลปากร ต้องผูกคอตายประชดชีวิตเพราะไม่มีเงินไปลงทะเบียนเรียน

มองตัวเองก่อนโทษระบบ

อย่างไรก็ดี ปัญหาบัณฑิตเบี้ยวหนี้ ไม่ยอมมาชำระเงินคืนเมื่อถึงกำหนด แม้จะมีลูกหนี้หลายคนออกมาบอกว่า ไม่มีเจตนาโกง แต่ผิดที่ระบบที่ทางกยศ.ไม่ได้แจ้งชำระคืนให้ชัดเจน เรื่องนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้สอบถามไปยังลูกหนี้ที่ไม่เคยเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืมเรียนเลยอย่าง ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้คำตอบว่า มหาวิทยาลัยมีการแจ้งรายละเอียดทั้งหมดอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการชำระหนี้ที่จะมีการปลอดหนี้ 2 ปี หลังจากจบการศึกษา และจะเริ่มชำระหนี้ในปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี แต่ถ้ายังไม่มีรายได้สามารถขอผ่อนผันชำระหนี้ได้

"คนที่พูดว่า ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการชำระหนี้ แสดงว่าไม่ได้ใส่ใจฟังตั้งแต่ต้น เพราะตอนกู้ใหม่ๆ ก็จะมีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร พอจบมาแล้วก็จะมีจดหมายส่งมาถึงบ้านว่าจะต้องจ่ายปีละเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร เป็นเวลานานกี่ปี ซึ่งบางทีก็ต้องมีสำนึกด้วยตัวเอง ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด โตๆ กันแล้ว บรรลุนิติภาวะกันแล้ว อยากให้มีสำนึกกันค่ะ เพราะจบและมีงานทำได้ก็เพราะบุญคุณจากเงินกู้ยืมเรียน" ผุสราภรณ์ชี้แจงพร้อมกับฝากถึงลูกหนี้ทุกท่านให้นึกถึงบุญคุณของเงินกู้ยืมเรียน

ด้าน พนักงานอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ยอมรับว่า ไม่เคยชำระหนี้เงินกู้ยืมเรียนเลย แม้จะมีจดหมายส่งมาที่บ้านก็ตาม แต่ก็ให้เหตุผลว่า ลำพังชีวิตทุกวันนี้มีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเจียดเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนตัวไม่ได้คิดจะเบี้ยว หรือชักดาบหนี แต่มีปัญหาเรื่องเงินจริงๆ หลังจากนี้จะพยายามเก็บเงิน และค่อยๆ ทยอยชำระหนี้ให้ครบ เพื่อน้องๆ รุ่นต่อไปจะได้มีกองทุนให้กู้ยืมเรียน

ปัจจุบัน นอกจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ด้วย โดยจะให้กู้ยืมค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาระดับ ปวส.ทุกสาขา ส่วนระดับปริญญาตรี เรียนในหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนจำนวน 90 กลุ่มสาขาวิชา หรือ 1,313 หลักสูตร/สาขาวิชา หากผู้กู้ยืมมีฐานะยากจนมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ก็สามารถขอกู้ยืมค่าครองชีพเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนได้

ส่วนการชำระหนี้นั้น จะต้องชำระหลังจากจบการศึกษา และเมื่อมีรายได้ถึง 16,000 บาทต่อเดือน ต้องผ่อนจ่ายชำระคืนกองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ภายในระยะเวลา 15 ปี โดยต้องรายงาน สถานะรายได้ต่อกองทุนฯ ในเดือนมีนาคมของทุกปี

วางแผนชำระหนี้ง่ายๆ คุณทำได้

ท้ายนี้ คงต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่มีชำระหนี้เงินกู้ยืมเรียน มาจากทัศนคติด้านการเงิน และไม่มีการวางแผนการชำระหนี้ กยศ. อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจในการชำระหนี้ แล้วมักจะนำเงินก้อนมาชำระหนี้หรือไม่ก็เบี้ยวหนี้ ทำเฉยๆ ไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกและเป็นการชี้ให้เห็นว่าคนที่กระทำแบบนี้ไม่มีความรู้ทางการเงิน และจะหลงไปติดกับดักหนี้สินอื่นๆ

สำหรับการวางแผนชำระหนี้ โสภณ มหาเจริญ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้สร้างเพจ "คุยหนี้ กยศ.กับ อ.โส" ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าปีนี้ต้องชำระหนี้ กยศ. ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 30,000 บาท จะต้องเก็บเงินไว้วันละ 100 บาทจนครบ 1 ปี แต่สำหรับคนที่ไม่มีแผน เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ต้องจ่ายแล้วหาเงินไม่ทัน ปัญหาที่ตามมาคือ เบี้ยวหนี้ เมื่อเบี้ยวหนี้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะแพงขึ้น

ดังนั้น การวางแผนชำระหนี้คือสิ่งสำคัญ หากใครยังไม่รู้ หรือไม่เคยรู้เลยว่า ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระหนี้มีจำนวนเท่าไร เข้าไปใช้ตารางคำนวณยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระหนี้ได้ที่ www.studentloan.or.th โดยใส่จำนวนเงินกู้ยืมที่ช่องบนของตาราง หากไม่ทราบ โทรสอบถามได้ที่ Help Desk ธนาคารกรุงไทย ที่เบอร์ 0 2208 8699 หรือ ตรวจสอบยอดเงินกู้ได้จากเครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทย จากนั้นเลือกจำนวนปีที่ต้องการผ่อนชำระ และระบุปี พ.ศ. ที่จบการศึกษาแล้วเลือกทำการคำนวณ

////////////////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

4 ช่องทางสะดวก ชำระหนี้ กยศ.

1. ชำระหน้าเค้าน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา

2. ชำระที่เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ ADM/ATM

3. ชำระทาง KTB ONLINE หรือชำระทาง KTB ONLINE @ MOBILE

4. หักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีออมทรัพย์ของผู้กู้ โดยนำเงินเข้าบัญชีก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม และไม่ต้องนำเงินไปชำระที่เค้าน์เตอร์อีก เพราะจะเป็นการชำระหนี้ซ้ำ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.ktb.co.th / www.studentloan.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ E-mail: gsl@ktb.co.th หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 1551 หรือ งาน Help Desk โทร. 0-2208-8699 หรือ ศูนย์สายใจ กยศ. 0-2610-4888

ข่าวโดย ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live






กำลังโหลดความคิดเห็น