ศูนย์ข่าวขอนแก่น - วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น จับมือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาบุคลากร ต่อยอดภูมิปัญญาในชุมชน และนำงานผลงานวิจัยถ่ายทอดสู่ชุมชน ประยุกต์ใช้ประโยชน์ ประเดิมนำร่องที่ อบต.ในเมือง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มข. เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือร่วมระหว่าง รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กับนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมระหว่างชุมชนกับนักศึกษาของวิทยาลัย
รวมถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และกำหนดพื้นที่ชุมชนต้นแบบของการนำผลงานวิจัยไปปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารงานท้องถิ่น และการทำงานร่วมกับชุมชนในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในภาคอีสาน
รศ.ดร.ศุภวัฒนากรกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นว่า จะต้องเริ่มจากคณะผู้บริหารที่เข้าถึงและเข้าใจบทบาทหน้าที่ รวมไปถึงการนำสภาพปัญหาของแต่ละชุมชนมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด สนองตอบความต้องการของประชาชน ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีบทบาท และภารกิจที่รับผิดชอบโดยตรงกับท้องถิ่นในรูปแบบของหุ้นส่วนที่จะเดินไปด้วยกัน
ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวประกอบด้วย การจัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้ง 3 หลักสูตรในด้านการวางแผนการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการกำหนดพื้นที่ชุมชนต้นแบบ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะให้บริการทางวิชาการ ทั้งในด้านของการวิจัย การจัดฝึกอบรม การจัดสัมมนา การจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากทั้ง 2 หน่วยงานให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
ภายหลังจากการลงนามแล้ว วิทยาลัยปกครองท้องถิ่นและ พอช.ได้คัดเลือก ต.ในเมือง อ.ภูเวียง เป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบแห่งแรกของโครงการใน จ.ขอนแก่น เนื่องจากชุมชนต้องการได้รับการถ่ายทอดด้านวิชาการ ผสมผสานกับวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น เช่น การบริหารจัดการชุมชนแบบรายหมู่บ้าน การส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพ และการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดสร้างงานสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า แผนงานสำคัญที่จะถูกนำมาปรับใช้ในชุมชนต้นแบบภาคอีสานได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน เพราะเป็นการสนับสนุน และช่วยเหลือชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน โดยยึดหลักสมาชิกชุมชนมีส่วนร่วม