xs
xsm
sm
md
lg

แห่งแรกในอาเซียน! ร.ร.พยาบาลรามาฯ เปิดหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ด้วยนวัตกรรม Hybrid หวังก้าวสู่ผู้นำในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเปิดหลักสูตรการพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ป.โทนานาชาติที่แรกในอาเซียน รับมือการไหลเข้าออกบุคลาการด้านพยาบาล ต่อยอดสู่การเป็นอาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาล ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนพยาบาลต่อคนไทยของไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 500

วันนี้ (31 ต.ค.) ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเปิดตัวหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง หรือ Hybrid Education Model ในหัวข้อ “มิติใหม่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีกับนวัตกรรมหลักสูตร Hybrid สู่ผู้นำด้านการพยาบาลแห่งอาเซียน” ว่า เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่นำมาใช้ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ และเป็นครั้งแรกของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาล รวมถึงเป็นการบูรณาการครั้งแรกในอาเซียน ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทั้ง Teleconference และการเรียนผ่านระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเวลาใดหรือเรียนที่ไหนก็ได้ และการเรียนแบบ Face to face กับอาจารย์ที่สามารถโต้ตอบกันได้ในห้องเรียน

ผศ.ดร.จริยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอาชีพพยาบาลเป็น 1 ในอาชีพที่ต้องเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต้องตื่นตัว กระตุ้นบทบาทหน้าที่เพื่อรับมือกับการไหลเข้าออกคนบุคลากร แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่น่าตื่นกลัว เนื่องจากการไหลของของบุคลากรไทยสู่ต่างประเทศยังค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะไหลสู่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความคล่องในเรื่องเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่ที่เดินทางออกไปจะเป็นกลุ่มผู้เชียวชาญที่มีความรู้ด้านการแพทย์การพยาบาล ถึงแม้ว่าจะเดินทางออกไปน้อยแต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทั้งนี้ นอกจากจะมีการออกไปทำงานยังต่างประเทศในโซนเอเชียแล้ว ยังมีการเดินทางออกไปทำงานในระดับสากล เช่น สหรัฐอเมริกากว่า 10% แต่ยังถือเป็นฐานปกติ ขณะเดียวกันชาวต่างชาติก็สนใจที่จะเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งได้เปรียบในเรื่องของภาษา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดี ซึ่งการที่จะเดินทางมายังประเทศไทยนั้นจะต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาลจากประเทศไทย และใช้ภาษาไทยในการทำข้อสอบ มีการตรวจสอบหลักสูตรที่จบมาว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ ปัจจุบันบุคลากรทางด้านพยาบาลของประเทศฟิลิปปินส์ได้มีการเดินทางเข้ามาบ้างแล้ว แต่ยังเป็นการทำหน้าที่อื่นที่ยังไม่ใช่การพยาบาล เนื่องจากจะต้องมีการฝึกภาษาไทยและเรียนรู้กระบวนการทำงานของโรงพยาบาลของประเทศไทยก่อน เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย

ภายใต้ความเคลื่อนไหวของการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับอาชีพพยาบาล โดยเฉพาะความตกลงตามกรอบ MRA ที่สามารถเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอาชีพได้อย่างเสรี ทางโรงเรียนจึงพยายามที่จะผลิตและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นสากลมากขึ้น และเร่งผลิตพยาบาลเพื่อลดปัญหากาขาดแคลนที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคตและต้องควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพด้วยซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของพยาบาลต่อคนไข้ของประเทศไทยอยู่ที่ 1ต่อ 500 ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ สัดส่วนจะอยู่ที่ 1 ต่อ 200” ผอ.ร.ร.รามาฯ กล่าว

ผศ.ดร.จริยา กล่าวอีกว่า เมื่อนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ไปแล้วจะสามารถต่อยอดเพื่อเตรียมตัวเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้สอนด้านภาคบริการ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาบาลขั้นสูง Advance Practice Nurse (APN) ค่าเล่าเรียนไม่เกิน 1 ล้านบาท หวังผลิตนักศึกษาหลักสูตรนี้รุ่นแรกจำนวน 20 คน หลักสูตรปริญญาตรี 230 คนต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันทั้งประเทศมีการผลิตพยาบาลปีละกว่า 8 พันคน สถานศึกษาทั้งหมด 82 แห่ง สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 23 แห่ง กระทรวงสาธารณสุข 29 แห่ง สังกัด กทม.6 แห่ง และที่เหลือเป็นของเอกชน 24 แห่ง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น