xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อค้ำเงินกู้สหกรณ์ สธ.ขอนแก่นโวย ถูกบี้เก็บหนี้เกือบ 5 แสนทั้งที่ถูกปลอมลายเซ็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางลัดดา วิพัฒนวิบูลกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมด้วยนายบัญชา วิพัฒนวิบูลกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน คู่สมรส ร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลขอนแก่นโวย สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขขอนแก่นสุดมั่ว ยอมให้ลูกจ้างกู้เงินโดยไม่ตรวจสอบหลักฐาน เผยปล่อยกู้ติดต่อกันถึง 4 ครั้งรวมเงินเกือบ 5 แสนบาท โดยใช้เอกสารชุดเดิม แต่ปลอมลายเซ็นผู้ค้ำประกัน ที่สำคัญเมื่อผู้กู้เบี้ยวจ่ายหลบหนี กลับไล่บี้เอาเงินต้นและดอกเบี้ยจากผู้ค้ำประกัน ทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกู้เงินเพิ่ม

วันนี้ (25 ก.ย.) นางลัดดา วิพัฒนวิบูลกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมด้วยนายบัญชา วิพัฒนวิบูลกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน คู่สมรส ได้ร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น ที่เรียกเก็บหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากนางลัดดา ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่นายบรรจบ เอกตาแสง พนักงานทำความสะอาดลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลขอนแก่นที่กู้เงินจากสหกรณ์รวมแล้วเป็นเงิน 470,000 บาท หลังจากที่นายบรรจบเบี้ยวชำระหนี้และหลบหนีไป ทั้งที่นางลัดดาค้ำประกันให้นายบรรจบเพียงแค่ครั้งเดียวในปี 2548 วงเงินกู้ 40,000 บาทเท่านั้น

นางลัดดาเปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้นายบรรจบเมื่อปี 2548 จริงในวงเงินกู้ 40,000 บาท ต่อมานายบรรจบได้ขาดงานหลบหนีหายตัวไป หลังจากที่ตนได้แจ้งต่อนายบรรจบให้เปลี่ยนคนค้ำประกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555 เพราะต้องการลาออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขขอนแก่น จึงทำให้นายบรรจบหลบหนีหายตัวไป

ขณะที่สหกรณ์ฯ แจ้งกลับว่าไม่ยอมให้ลาออก พร้อมอ้างระเบียบสหกรณ์ต้องหักเงินหนี้ค้างชำระของนายบรรจบกับผู้ค้ำประกันเงินกู้ ที่สำคัญสหกรณ์ฯ แจ้งว่า นายบรรจบได้เพิ่มวงเงินกู้ในช่วงหลังอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายสัญญาเลขที่ 54002401 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 เป็นวงเงิน 373,000 บาท รวมมูลหนี้ทั้ง 4 ครั้งกว่า 470,000 บาท

“ยอมรับว่าครั้งแรกได้เซ็นค้ำประกันเงินกู้ให้กับนายบรรจบจริง แต่ครั้งที่ 2, 3, 4 ไม่รู้เห็นกับการกู้เงินของนายบรรจบ ทางสหกรณ์ฯ อนุมัติเงินกู้ให้ได้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่านายบรรจบน่าจะปลอมแปลงเอกสารหนังสือค้ำประกัน และโดยทั่วไปการลงนามค้ำประกันเงินกู้กับสหกรณ์อื่น หรือสถาบันการเงินทุกๆ แห่งน่าจะเป็นการลงลายมือชื่อต่อหน้าทั้งผู้กู้ บุคคลค้ำประกัน และสถาบันการเงิน จึงได้ติดตามเอกสารหลักฐานทั้งหมดของการกู้เงินครั้งที่ 2-4 ของนายบรรจบกับทางสหกรณ์ฯ” นางลัดดากล่าว

และว่า แต่ทางสหกรณ์ฯ กลับปฏิเสธให้เอกสารกับตน อ้างว่าเป็นมติคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ไม่สามารถนำเอกสารออกมาได้ จึงตัดสินใจแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อนำไปยื่นขอเอกสารต่อผู้จัดการสหกรณ์หลายครั้ง แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธไม่ยอมส่งเอกสารให้ทุกครั้ง ถึงที่สุดพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ต้องออกหมายเรียกผู้จัดการสหกรณ์ จึงยอมส่งเอกสารให้

จากการตรวจสอบเอกสารกู้เงินทั้งหมดของนายบรรจบ แสดงให้เห็นว่าสหกรณ์ฯ รับเอกสารจากนายบรรจบโดยไม่มีการตรวจสอบว่าเพราะเป็นหลักฐานเดิมทั้งหมดจากการกู้เงินครั้งแรก ที่นายบรรจบในฐานะผู้กู้ถ่ายสำเนาเอกสารไว้ แม้กระทั่งสำเนาบัตรประชาชนก็เป็นบัตรหมดอายุไปนานแล้ว รวมทั้งใบลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันก็มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนางลัดดาและคู่สมรสทั้งหมดด้วย

ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้เสียหาย นางลัดดาและสามีได้ขอให้ผู้จัดการสหกรณ์ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ของนายบรรจบก่อนจะดำเนินการหักเงินเดือนกับนางลัดดา แต่ปรากฏว่าสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขขอนแก่นได้ทำเรื่องหักบัญชีนางลัดดาไปแล้วตั้งแต่เดือน ส.ค. 2555

“ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่สหกรณ์ไม่ยอมตรวจสอบหลักฐานการกู้เงิน ทั้งเอกสารเป็นการปลอมแปลงลายเซ็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ แต่สหกรณ์กลับพยายามที่จะมาตามหนี้เงินกู้กับผู้ค้ำประกัน ทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย” นางลัดดากล่าว

ทั้งนี้ นายบัญชา วิพัฒนวิบูลกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน คู่สมรสของนางลัดดา ตั้งข้อสังเกตว่า สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขไม่มีการแจ้งความติดตามดำเนินคดีต่อนายบรรจบผู้กู้ที่หลบหนีไป แต่ตั้งเรื่องหักเงินจากผู้ค้ำประกันทันที ทั้งยังกล่าวว่าจะหักเงินเดือนไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ร้องทุกข์จะฟ้องศาลเพื่อขอคืนเงินดังกล่าว รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่ต้องเป็นฝ่ายไปแจ้งความดำเนินคดีต่อนายบรรจบเอง และต้องเสียค่าทนายฟ้องศาล

ประเด็นต่อมา สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นให้วงเงินกู้แก่ลูกจ้างชั่วคราวสูงถึง 300,000-400,000 บาทได้อย่างไร ทั้งที่นายบรรจบมีเงินเดือนเพียงแค่ 5,100 บาท ที่สำคัญสหกรณ์ฯ แห่งนี้ไม่มีนิติกรตรวจสอบหลักฐานเอกสารค้ำประกัน และหลักฐานการกู้ต่างๆ ของผู้ค้ำที่เป็นข้าราชการประจำเพื่อจะได้หลักฐานที่ถูกต้อง โดยต้องลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผู้กู้เป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น จึงเห็นว่าทั้งหมดเป็นพฤติกรรมไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่สหกรณ์กับผู้กู้ ที่อาจร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จเพื่อปล่อยเงินกู้จำนวนมาก

“เรื่องนี้จะฟ้องไปที่ฝ่ายวินัยข้าราชการ กับคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นชุดนี้ เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง และต้องการให้สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นมีขั้นตอนที่รัดกุม และมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ ไม่อยากให้ใครคนใดที่เป็นผู้ค้ำประกันและถูกปลอมแปลงเอกสารเป็นผู้เสียหาย แล้วต้องมาถูกหักเงินเดือนเพื่อชดใช้หนี้แทนผู้กู้ เสียทั้งเงินและเสียสุขภาพจิต ทั้งปล่อยให้คนโกงลอยนวล” นายบัญชากล่าว
นางลัดดา วิพัฒนวิบูลกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น ผู้เสียหายจากการถูกปลอมลายเซ็น หนังสือค้ำประกันเงินกู้
นายบัญชา วิพัฒนวิบูลกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน คู่สมรส
สลิบเงินเดือนที่มีการหักหนี้เงินกู้ไปแล้ว

หนังสือค้ำประกันที่มีการปลอม ลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
ลายมือชื่อปลอมแปลง
หนังสือมงคลสมรส ลายเซ็นจริงของนางลัดดา

กำลังโหลดความคิดเห็น