xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทุ่ม 37 ล.ส่งรถเคลื่อนที่ตรวจคุณภาพอาหารหน้า ร.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เทงบ 37 ล้านบาท สั่ง 12 เขตบริการส่งรถตรวจคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ ตรวจสารอันตราย 6 ชนิดของอาหารหน้าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เน้นไส้กรอก ลูกชิ้น พบใส่สี สารกันบูด สารบอแรกซ์มาก ส่วนปลาหมึกนิยมใส่สารฟอกขาว ลั่นตรวจเจอจะสาวถึงแหล่งผลิต เผยตั้งทีมสอบสวนโรคจากอาหารเคลื่อนที่เร็วแต่ละจังหวัดแล้ว

วันนี้ (29 ต.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวร้านขายขนมหน้าหมู่บ้านและหน้าโรงเรียน นำขนมไม่ได้มาตรฐานมาวางขาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเลข อย.ว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สธ.ได้จัดทำโครงการสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ โดยให้ทุกจังหวัดเร่งปลูกจิตสำนึกประชาชนให้คำนึงถึงสุขภาพก่อนเลือกซื้อหรือเลือกรับประทานอาหาร โดยได้จัดงบประมาณ เรื่องการสร้างความปลอดภัยเรื่องอาหารบริโภคทุกชนิดรวม 37 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ โดยให้แต่ละเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งนี้ จะมีรถตรวจคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ ตรวจสารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารกันรา และยากำจัดศัตรูพืช และให้ตรวจอาหารยอดนิยมของนักเรียนที่วางขายหน้าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีประมาณ 50,000 แห่งทั่วประเทศ

ที่ต้องตรวจมากเป็นพิเศษคือ ลูกชิ้น-ไส้กรอก ซึ่งมักผสมแป้ง ใส่สี มีสารกันบูด สารบอแรกซ์ เป็นส่วนผสม เสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาว ปลาหมึกแช่ฟอร์มาลิน ของทอดต่างๆ ซึ่งจะใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายครั้ง และขนมใส่สี เช่น เยลลี วุ้น ลูกชุบ น้ำหวาน หากพบไม่ผ่านเกณฑ์ปลอดภัยจะต้องสาวถึงแหล่งผลิต โดยจะเชิญตัวแทนผู้บริโภค เข้ามาร่วมหารือและวางแผนปฏิบัติงานในต้น พ.ย.นี้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ส่วนของอาหารในโรงเรียน จากการสำรวจพบว่า โรงเรียนเกือบทุกแห่งจะมีก๋วยเตี๋ยวจำหน่ายให้นักเรียน จะเน้นที่การควบคุมความปลอดภัยส่วนประกอบ ตั้งแต่หม้อต้มต้องได้มาตรฐาน เป็นสเตนเลสไม่มีรอยตะกั่วบัดกรี มีการปรุงรสชาติน้ำก๋วยเตี๋ยวพอดี มีการตรวจสอบสารฟอกขาวในเส้นก๋วยเตี๋ยว และคุณภาพความปลอดภัยผัก ลูกชิ้น เนื้อหมู ไม่วางเครื่องปรุงบนโต๊ะ เช่น พริกป่น น้ำปลา น้ำส้ม น้ำตาล ซึ่งจะลดความเสี่ยงสารอะฟลาท๊อกซินในพริกป่นที่ทำให้เกิดมะเร็ง ไม่กินเค็มและหวานเกินไป โดยปี 2556 ดำเนินการในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ภูเก็ต รวม 15,260 แห่ง พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ในปีงบประมาณ 2557 จะดำเนินการเพิ่มอีกร้อยละ 30 และตั้งเป้าหมายครบทุกแห่งภายในปี 2559

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.กล่าวว่า ปี 2557 ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สธ.จัดทำหลักเกณฑ์คุณภาพระบบงานอาหารปลอดภัยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ภายใต้โครงการสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ ในส่วนอาหารปลอดภัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร ให้สอดคล้องกับระบบสากลและกฎอนามัยระหว่างประเทศ 4 ระบบใหญ่ คือ 1.ระบบการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนผลิต 2.ระบบการเฝ้าระวัง 3.ระบบการตอบโต้เมื่อมีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยฉุกเฉิน หรือมีคนป่วยจากอาหาร และ 4.ระบบบริหารจัดการ โดยจะมีการจัดตั้งทีมสอบสวนควบคุมโรคและภัยที่เกิดจากอาหารเคลื่อนที่เร็วประจำจังหวัด (Food Safety Rapid Response Team : FSRRT) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นทีมที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ
 



"นอกจากนี้ สธ.ได้ตั้งคณะกรรมการเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (INFOSAN) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) เป็นคณะกรรมการระดับชาติ 1 ชุด มีรองปลัด สธ.ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานใน สธ. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านความไม่ปลอดภัยของอาหารและมีผลกระทบกับไทย ซึ่งปลัด สธ. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 15 ต.ค." รองปลัด สธ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น