xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ระวัง!! สารพัดสารเคมี ปนเปื้อนในอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาหารหลายชนิดที่ดูสด กรอบ อร่อย และมีสีสันน่ารับประทานนั้น ไม่ใช่อาหารที่ดีเสมอไป เพราะอาจมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ ซึ่งจะทำลายสุขภาพของผู้ที่รับประทานเป็นประจำ หรือบางครั้งก็อาจเสียชีวิตได้ในทันที

สารพัดสารเคมีที่แฝงอยู่ในอาหารต่างๆนั้น กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้รวบรวม เพื่อเตือนภัยไว้ดังนี้

บอแรกซ์

สารนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่าผงกรอบ น้ำประสานทอง และเม่งแซ/เพ่งแซ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวขุ่นคล้ายผงซักฟอก นิยมใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้ว เชื่อมทอง และชุบเคลือบโลหะ เป็นต้น มักมีผู้ลักลอบนำมาใส่ลงในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่น กรอบ

อาหารกลุ่มเสี่ยง : ลูกชิ้น ไส้กรอก หมูบด ลอดช่อง ทับทิมกรอบ

ผลกระทบต่อสุขภาพ :

- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้งอักเสบ หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ เป็นพิษต่อตับ ไต ระบบสืบพันธุ์เสื่อมสมรรถภาพ เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร

- ถ้าเป็นผู้ใหญ่ได้รับสารบอแรกซ์ 15 กรัม หรือเด็กได้รับ 5 กรัม อาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดและอาจตายได้

วิธีการหลีกเลี่ยง :

- หลีกเลี่ยงอาหารที่หยุ่นกรอบ อยู่ได้นานผิดปกติ

- เนื้อสัตว์ที่ซื้อมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาด ก่อนนำไปปรุงอาหาร

ฟอร์มาลิน

เป็นสารละลายใส กลิ่นฉุน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเคมี สิ่งทอ และใช้ในการดองศพ มักมีผู้ลักลอบนำมาใส่ลงในอาหาร เพื่อให้อาหารสด ไม่เน่าเสีย

อาหารกลุ่มเสี่ยง : ปลาหมึกกรอบ เห็ดฟาง สไบนาง อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปู

ผลกระทบต่อสุขภาพ : ถ้าสัมผัสจะทำให้ผิวหนังอักเสบ หรือดมจะระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ หากรับประทานมาก จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ เสียชีวิตได้ เป็นสารก่อมะเร็ง

วิธีการหลีกเลี่ยง :

- ก่อนเลือกซื้อเนื้อสัตว์หรือผัก ผลไม้ ให้ตรวจสอบโดยการดมกลิ่น จะต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก

- หลีกเลี่ยงผักและผลไม้ ที่ขายทั้งวันแล้วยังดูสด ไม่เหี่ยว ทั้งที่ถูกแสงแดดและลมตลอดทั้งวัน

- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีสีเข้มและสดผิดปกติ ทั้งที่ไม่ได้แช่เย็น และก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาด

โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์หรือสารฟอกขาว

เป็นผงสีขาว ใช้สำหรับฟอกแห อวน หรืออุตสาหกรรมซักย้อม เป็นอันตรายต่อการบริโภค มักมีผู้ลักลอบนำมาใส่ลงในอาหาร เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล ทำให้อาหารมีความขาวใสน่ารับประทาน

อาหารกลุ่มเสี่ยง : ถั่วงอก ขิงซอย กระชายซอย ทุเรียนกวน เป็นต้น

ผลกระทบต่อสุขภาพ :

- อักเสบในอวัยวะที่สัมผัส เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร

- ทำให้เกิดการหายใจขัด ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ช็อก และอาจถึงตายได้

วิธีการหลีกเลี่ยง :

- เลือกซื้ออาหารที่มีความสะอาด สีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวเกินไป หรือแม้ตากลมก็ยังไม่มีสีคล้ำ

- ควรทำให้สุกเสียก่อน เพราะสารฟอกขาวจะถูกทำลายด้วยความร้อน

กรดซาลิซิลิคหรือสารกันรา

มีลักษณะเป็นผงหรือเป็นของเหลวใส มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มักมีผู้ลักลอบนำมาใส่ลงในอาหารเพื่อกันเชื้อรา ทำให้อาหารมีความใสและทำให้อาหารไม่เน่าเละ

อาหารกลุ่มเสี่ยง : อาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง กระเทียมดอง แหนม หมูยอ

ผลกระทบต่อสุขภาพ : มีอาการอาเจียน มีไข้ และอาจถึงตายได้

วิธีการหลีกเลี่ยง : เลือกซื้ออาหารที่สด ใหม่ ไม่บริโภคอาหารหมักดอง หรือถ้าจะบริโภค ก็ให้เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพ

สารเร่งเนื้อแดง

สารชนิดนี้ ได้แก่ สารซาลบูทามอง และสารเคลนบูเทอรอล เป็นตัวยาสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด มักมีผู้ลักลอบนำมาใส่ลงในอาหารสำหรับเลี้ยงหมู เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของหมู ช่วยทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น และมีไขมันน้อย

อาหารกลุ่มเสี่ยง : เนื้อหมู สันคอหมู เนื้อวัว เป็นต้น

ผลกระทบต่อสุขภาพ :

- ทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เป็นอันตรายมากสำหรับคนที่มีความไวต่อสารนี้ เช่นผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ รวมถึงทารกและสตรีมีครรภ์

วิธีการหลีกเลี่ยง :

- เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงธรรมชาติ มีมันหนาบริเวณสันหลัง เมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวาง มีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจน

- ไม่เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงเข้มกว่าปกติ

- ไม่นำเนื้อหมูที่หั่นทิ้งไว้แล้วมีลักษณะค่อนข้างแห้งไปทำเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร

สารปนเปื้อนทั้ง 5 ชนิดนั้น เป็นสารเคมีที่ห้ามใส่ในอาหารโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีการลักลอบใส่ในอาหาร ถือเป็นการผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)




กำลังโหลดความคิดเห็น