เอเอฟพี - สมุนไพรพื้นบ้านของจีนซึ่งเป็นที่เชื่อถือเรื่องสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนอยู่หลายชนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ “กรีนพีซ” แถลงวันนี้ (24)
รายงานจากกรีนพีซเรื่อง “สมุนไพรจีน : ยาอายุวัฒนะ หรือค็อกเทลยาฆ่าแมลง?” (Chinese herbs: elixir of health or pesticides cocktail?) ซึ่งมุ่งศึกษาผลกระทบด้านลบของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในจีน ระบุว่า จากการสุ่มตรวจวิเคราะห์สมุนไพรที่ปลูกในจีน พบว่า มีตะกอนสารพิษเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรป “หลายร้อยเท่า”
“จากการตรวจสอบทำให้เราพบช่องโหว่ในอุตสาหกรรมการเกษตรจีน ซึ่งต้องพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก โดยยอมแลกกับสุขภาพที่ดีของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม” จิ้ง หวัง นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีเพาะปลูกโดยอิงหลักนิเวศวิทยา (ecological farming) ระบุ
“ผู้คนนับล้านๆ ทั่วโลกต่างไว้วางใจ และใช้สมุนไพรจีนเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ สมุนไพรเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เราชาวจีนพึงสงวนรักษาไว้ พวกมันควรถูกใช้เพื่อรักษา มิใช่ทำลายสุขภาพ และควรปลอดจากยาฆ่าแมลงทุกชนิด”
สารเคมีที่ตกค้างในสมุนไพรจะเข้าไปสะสมในร่างกายผู้บริโภค ก่อให้เกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้, ฮอร์โมนผิดปกติ และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ กรีนพีซ เผย
กรีนพีซ ได้สุ่มตรวจสมุนไพรจีน 65 ชนิด และพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงถึง 51 ชนิดในสมุนไพรเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าสมุนไพรจีน 26 ชนิดมียาฆ่าแมลงที่กฎหมายจีนห้ามใช้ด้วย
ยาฆ่าแมลงบางชนิดที่พบ “มีความเข้มข้นสูงมาก” เช่น ในดอกโสมซานชี (san qi flower) พบสารเคมีตกค้างเกินระดับปลอดภัยถึง 500 เท่า ส่วนในดอกสายน้ำผึ้ง (honeysuckle) พบสารพิษเกินระดับปลอดภัยราว 100 เท่า
รายงานดังกล่าวถูกเปิดเผย หลังจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรีนพีซได้ตรวจพบกองขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยฟอสเฟตของจีน ซึ่งก่อให้เกิดพิษต่อชุมชน และแม่น้ำลำคลองบริเวณนั้น
จีนเป็นผู้ผลิตปุ๋ยฟอสเฟตรายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการผลิตสูงถึง 20 ล้านตันในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในรอบทศวรรษ ซึ่งกระบวนการผลิตปุ๋ยชนิดนี้จะก่อให้เกิดสารพลอยได้ที่เรียกว่า “ฟอสโฟยิปซัม” ที่มีพิษตกค้าง
สื่อรัฐบาลจีนกล่าวโทษกรรมวิธีเพาะปลูกแบบ “เข้มข้น” ซึ่งเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการเกษตรจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาสารปนเปื้อนในอาหาร รวมไปถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในช่วงต้นปีนี้ด้วย