xs
xsm
sm
md
lg

ลุยยกเลิกแท็บเล็ตโซน 3! บอร์ดฯ สั่ง สพฐ.ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ กวพ.อ.ชี้เลิก-ไม่เลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดแท็บเล็ตลุยต่อยกเลิกอี-ออกชัน โซน 3 สั่ง สพฐ.ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ กวพ.อ.ชี้ชัดเหตุผลในการยกเลิกเพื่อให้ กวพ.อ.ชั้นอุทธรณ์ตัดสิน เลิก-ไม่เลิกโซน 3 เผยครั้งนี้มีผู้แทนกฤษฎีกาที่เข้าร่วมประชุมยันมติบอร์ดเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ เช่นกัน ย้ำการจัดซื้อแท็บเล็ตครั้งนี้ยืดยาวเป็นมหากาพย์และสร้างความเสียหายต่อนักเรียนที่ประเมินมูลค่าไม่ได้

วันนี้ (29 ต.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมหารือกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ของกรมบัญชีกลาง ไม่รับทราบการประกาศยกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตในโซนที่ 3 (ภาคกลางและภาคใต้) ของนักเรียนชั้น ม.1 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) เนื่องจากการประกาศยกเลิกดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 แต่เป็นการยกเลิกโดยใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานเอง

ทั้งนี้ บอร์ดบริหารแท็บเล็ตมีความเห็นว่า แม้ กวพ.อ.จะมีมติดังกล่าวออกมาแต่ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยที่ผ่านมาบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในโซนดังกล่าว ได้ยื่นอุทธรณ์กับ กวพ.อ.ซึ่งเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ ของ กวพ.อ.เท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องรอดูผลสรุปการพิจารณาคำอุทธรณ์ของคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ ของ กวพ.อ.ก่อน

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการประชุมได้แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ กวพ.อ.เห็นว่าการยกเลิกดังกล่าวเป็นการยกเลิกโดยใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานเอง ไม่เป็นไปตามกฎหมายนั้นน่าจะเป็นเพราะ สพฐ.ไม่ได้ให้เหตุผลในการใช้ดุลยพินิจยกเลิกผลอี-ออกชันโซน 3 ไป ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องว่าบอร์ดบริหารแท็บเล็ตสามารถยกเลิกการประมูลได้ โดยใช้กฎหมายอื่นๆ ประกอบในการตัดสินใจ โดยไม่ต้องยึดระเบียบสำนักนายกฯ อย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการบริหารฯ จึงขอให้สพฐ.เร่งส่งข้อเท็จจริงดังกล่าว ไปโต้แย้งในขั้นตอนของการอุทธรณ์และถ้าคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ของ กวพ.อ.มีมติออกมาเช่นไร ก็ต้องว่าไปตามนั้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมที่ผ่านมาได้เชิญผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าร่วม ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าถ้าพิจารณาจากระเบียบสำนักนายกฯ แล้วถือว่า การยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ในข้อ 5 ความสัมพันธ์กับระเบียบอื่น นอกจากที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ ให้การพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ หรือระเบียบอื่นของหน่วยงานนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย เว้นแต่คณะกรรมการการพัสดุว่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะกำหนดหรือวินิจฉัยเป็นประการอื่น ดังนั้น ประเด็นที่ต้องไปดูควบคู่กัน คือ ต้องไปศึกษาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดี เพื่อนำมาประกอบการชี้แจงต่อ กวพ.อ.ในกรณีที่ สพฐ.พิจารณายกเลิกการประมูลในโซนดังกล่าว

ต้องยกเหตุผลที่สำคัญชี้แจงต่อ กวพ.อ.คือการเสนอราคาในโซนที่ 3 สูงกว่าโซน 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของนักเรียน ม.1 และครู อย่างมีนัยสำคัญอย่างมาก ทำให้เห็นว่าหากดำเนินการจัดซื้อ จะเป็นการซื้อในราคาที่แพง และทำให้ราชการเสียประโยชน์ ซึ่งเป็นมติที่ได้หารือข้อกฎหมายอย่างรอบด้านแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นมหากาพย์ที่ยาวนาน เป็นตัวอย่างของความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะจะเดินหน้าจัดซื้อก็ไม่ได้ จะยกเลิกก็ทำไม่ได้เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นคงประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะเด็กไม่ได้ใช้แท็บเล็ตในการเรียนรู้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ได้มอบให้ สพฐ.ไปสรุปข้อดีข้อเสียของการดำเนินงานจัดซื้อแท็บเล็ตตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เพื่อนำมาแก้ข้อบกพร่องในการจัดซื้อต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น