xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.เตรียมวางแผนพัฒนาชีวิตให้เด็ก-วัยรุ่น-คนแก่ เน้นการเรียนรู้สมวัยปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกศ.เผยคืบหน้าร่างแผนพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต มีข้อเสนอพัฒนาตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 0-60 ปีขึ้นไป เน้นสร้างพื้นฐานความรู้เหมาะกับช่วงวัย เตรียมเดินหน้าฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปเสนอ รมว.ศึกษาฯ และนายกฯ ต่อไป
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายละเอียดแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ว่า ขณะนี้มีข้อเสนอแนวการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ในด้านการบริหารจัดการนั้น ควรดำเนินการตามในแต่ละช่วงอายุ โดยในช่วงอายุ 0-5 ปี (เด็กแรกเกิด-ปฐมวัย) มีข้อเสนอว่า ควรให้ความรู้แก่ผู้อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เกี่ยวกับเพศศึกษา และการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ และการเรียนระดับปฐมวัยไม่ควรเน้นวิชาการ และยัดเหยียดให้เด็กเรียนรู้มากเกินไป ควรเน้นจินตนาการ และเรียนรู้ผ่านการเล่น ส่วนช่วงอายุ 5-14 ปี (เด็กนักเรียน) ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการวางกลยุทธ์และจัดการศึกษา ส่งเสริมทักษะสมรรถนะที่จำเป็น และเป็นฐานต่อยอดของช่วงอายุต่อไป ควรปรับการเรียนภาคทฤษฎีให้น้อยลง และเพิ่มภาคปฏิบัติให้มากขึ้น อีกทั้งควรเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ให้สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งต้องสร้างนิสัยซื่อสัตย์สุจริต และต่อต้านการคอร์รัปชัน
น.ส.ศศิธารา กล่าวอีกว่า ขณะที่ช่วงอายุ 15-21 ปี (วัยรุ่น-นักศึกษา) และ 15-59 ปี (แรงงาน) มีข้อเสนอว่า ภาคเอกชนอยากให้ทำสมุดพกความดีของเด็กแต่ละคน เพื่อพิจารณาว่าเด็กเคยผ่านการทำกิจกรรมอะไรมาบ้างก่อนที่จะรับเข้าทำงาน นอกจากนี้ควรจัดฝึกอบรม และพาเด็กเยี่ยมชมสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ระบบการทำงานอย่างแท้จริง ที่สำคัญควรมีการวางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ และเสริมสร้างทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษให้แก่เด็กด้วย และช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุ) มีข้อเสนอว่า ภาครัฐควรศึกษาและเตรียมการเกี่ยวกับการดูแลโภชนาการ การออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะที่ดี และควรวางแผนเพื่อรองรับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวแบบ Long stay ในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ต้องจัดให้มีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีสันทนาการ และมีการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลังด้วย อย่างไรก็ตาม สกศ.จะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำร่างแผนการศึกษาฯ เสนอ รมว.ศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น