xs
xsm
sm
md
lg

ซีเมสชี้ "นักการเมือง" ก้างชิ้นใหญ่ขวางปรับระบบการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีเมส ชี้ไทยปรับระบบการศึกษาเจอก้างใหญ่ 2 ชิ้น ทั้งระบบความคิดเดิมจากนักการเมือง และการรวมอำนาจ ด้าน “จาตุรนต์” ระบุไทยเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนา นร.ครู รวมทั้งเตรียมพร้อมในเรื่องภาษาอังกฤษเด็กไทยและนำไอซีทีมาใช้ เพื่อการพัฒนาภาษามากขึ้น หวังลดช่องว่างทางการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน
วิทยา จีระเดชากุล ผอ.ซีเมส (ภาพจากเว็บไซต์ http://www.sci.nu.ac.th/pomt/index.php?SRC=14#/0)
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวและเปิดการประชุมผู้นำการศึกษาเอเชีย ครั้งที่ 5 และงานเวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2556 พร้อมกันนี้ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บูรณาการความร่วมมือทางการศึกษาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ทำให้การศึกษาสามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างมีคุณภาพ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลาว่า เรายังใช้เวลาในชั้นเรียนมากเกินไปและมีปัญหาในเรื่องของทักษะการวิเคราะห์ แต่ ศธ.ก็พยายามที่จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนา เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ประสบปัญหาในลักษณะนี้

เชื่อว่าขณะนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังพัฒนาเรื่องการศึกษา เพื่อปรับระบบการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ซึ่ง ศธ.ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องมีการปฎิรูปการศึกษา และปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผลประเมินพิซ่า ตลอดจนปฏิรูปการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและแก้ปัญหาได้ ขณะที่ในส่วนของครูก็ต้องมีการพัฒนาคุณภาพต้องมีการพัฒนาครูให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นด้วย โดยการประเมินครูก็จะต้องควบคู่ไปกับผลงานที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ ศธ.จะต้องส่งเสริมคุณภาพของระบบการศึกษาอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานระดับโลก และสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยจะต้องมีการกำหนดกรอบให้เด็กอาชีวะมีทักษะ และมีความรู้ตามความต้องการของสถานประกอบการ นอกจากนี้จำเป็นต้องให้ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมในด้านการฝึกอบรมทั้งเทคนิคและการศึกษา เพื่อให้การเรียนอาชีวะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2558 ที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรม และภาษาซึ่งกันและกัน ซึ่งภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นเราจะต้องเร่งพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับเด็กไทย รวมทั้งการนำไอซีทีมาใช้ในการสอนภาษาให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คนที่ทำงานด้านการศึกษาในอาเซียนเพื่อเป็นการลดช่องว่างของการพัฒนาการศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะเดียวกัน ได้มีการวางยุทธศาสตร์การศึกษา 5 ปี (2554-2558) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาคนรุ่นใหม่รองรับศตวรรษที่ 21 โดยทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันจัดตั้งกรอบคุณวุฒิอาเซียนขึ้นมา เพื่อให้เกิดการโอนย้ายระหว่างกันได้ง่ายขึ้น

ด้าน นายวิทยา จีระเดชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีเมส) กล่าวว่า ภาพรวมระบบการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตนั้น จำเป็นต้องมีการปรับวิธีการสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์เป็น ไม่ใช่การท่องจำเหมือนอดีต ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายต่อการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา อยู่ 2 เรื่องคือ 1.การเปลี่ยนแปลงระบบความคิด ซึ่งจะทำอย่างไรให้นโยบายทางการศึกษามีความต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่า การเมืองเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษา เพราะหากคนที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลมีความเข้าใจระบบการศึกษาจริงๆ ก็จะช่วยพัฒนาได้ดีขึ้น และ 2.ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบให้มีการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางออกไปมากขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้การพัฒนายกระดับคุณภาพระบบการศึกษาของไทยทำได้เร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น