xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติมองภาษาอังกฤษคนไทยเข้าขั้นวิกฤต ศธ.จ่อปฏิรูปการสอนขนานใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้ต่างชาติมองภาษาอังกฤษคนไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ชี้เมื่อตื่นตัวขอให้เร่งปรับปรุง พร้อมชื่นชม ศธ.ตื่นตัวและเร่งปรับปรุง ด้าน “จาตุรนต์” ชี้ถึงเวลาปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษขนานใหญ่ โดยต้องจัดการสอนแบบเข้มข้น แนะสพฐ.เพิ่มภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือกสำหรับเด็กที่สนใจและให้ใช้ประโยชน์จากสื่อไอซีที โดยเฉพาะแท็บเล็ตให้เกิดประโยชน์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างเปิดการประชุมเสวนา “ประเทศไทยควรปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างไร” โดยมี นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รวมทั้งครู นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน เข้าร่วม ว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่สำคัญ ในการติดต่อสื่อสาร และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อ รวมทั้งเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ จึงจำเป็นต้องเน้นการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารได้ ซึ่งในปัจจุบันกว่า 90% ผู้เรียนถูกสอนโดยเน้นให้เรียนแบบท่องจำคำศัพท์ หรือเน้นไวยากรณ์มากจนเกินไป ในขณะที่การพูดหรือการเขียนมีน้อยมากหรือถึงขั้นไม่มี

อย่างไรก็ตาม การเรียนภาษาต่างประเทศจำเป็นต้องเรียนแบบเข้มข้น และจำเป็นต้องปรับวิธีการเรียนการสอนแบบเข้มข้น อย่างทุกวันนี้โรงเรียนมีการสอนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับอยู่แล้ว ซึ่งตนเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ สพฐ.อาจจะทำระบบวิชาเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับเด็กที่ชอบและความสมัครใจเลือกเรียนเพิ่มเติมไม่ใช่บังคับให้เรียนทั้งห้อง ขณะเดียวกัน ตนสังเกตว่าเวลาจัดกิจกรรมส่งเสริมอย่างค่ายภาษาอังกฤษนั้นระยะเวลาเพียง 3 วันน้อยเกินไปที่จะเรียนรู้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัด 1 เดือนเพื่อเรียนรู้อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ควรนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบ Interactive ผ่านแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเด็กชั้น ป.1-2 ที่มีแท็บเล็ตใช้แล้ว ครูผู้สอนควรใช้ประโยชน์ตรงนี้

“การศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศ ทำให้เห็นได้ชัดว่าเราต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และปฏิรูประบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศอย่างขนานใหญ่ ทั้งในส่วนของหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล กระบวนการผลิตและพัฒนาครู การใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพราะปัจจุบันผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศพบว่าอยู่ในสภาพที่ทุกฝ่ายรู้สึกไม่พอใจ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นอย่างมาก” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมสถาบันภาษาอังกฤษ ศธ.ที่เห็นประเด็นปัญหาและเรื่องรีบเร่งที่ต้องพัฒนา หากสังเกตจากภายนอกภูมิภาคอาเซียนและในโลกความสามารถทางการใช้ภาษาคนไทยอยู่ในขั้นวิกฤตซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสังคมโลก เพราะภาษาอังกฤษเป็นตัวนำไทยไปแข่งขัน ร่วมมือ ประสานงานกับสังคมโลก แต่สาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษน้อย เพราะส่วนหนึ่งเราไม่ได้มีการสื่อสารกับชาวต่างชาติมากนักและไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ประเทศที่จะประสบความสำเร็จอยู่รอดได้ต้องมีทักษะสื่อสารได้รอบด้าน ซึ่งหากสังเกตเห็น 4 ประเทศที่มาร่วมการตั้งอาเซียนเป็นเมืองขึ้นทั้งนั้น แต่เขาไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาตนเองแม้ได้เรื่องภาษาอังกฤษดีกว่า หรือแม้แต่ประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแต่เวลานี้ภาษาอังกฤษก็ดีกว่าเรามาก เพราะฉะนั้นเมื่อเราตระหนักดีก็ต้องเร่งดำเนินการ โดยจะต้องร่วมกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งมีการค้าขายข้างนอกแต่กำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศ

“การฟังและพูดให้รู้เรื่องไม่ใช่ยากแต่สื่อมวลชนและสื่อต่างๆ ต้องช่วยให้เด็กคุ้นกับภาษาต่างประเทศ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาใช้งานต่างประเทศ อีกทั้งไวยากรณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจความชัดเจน โดยเฉพาะในการที่จะต่อรองต่างๆ ความเข้าใจในภาษากฎหมาย เป็นต้น ซึ่งในเรื่องไวยากรณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไทยเน้นย้ำมาตลอด พ่อแม่และครูก็ต้องตระหนักในการใช้ภาษา เพราะเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งเวลานี้เมื่อ ศธ.ตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหาขอให้เร่งดำเนินการที่สำคัญความรู้ทางภาษาอังกฤษจะช่วยเปิดโลกกว้างโดยฉพาะในคลังความรู้บนโลกอินเตอร์เน็ตที่มีมากมายและหลายเรื่องต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ที่สำคัญเด็กสามารถเข้าสู่สิ่งเหล่านี้ได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟนที่เด็กๆ นิยมใช้กันทุกวันนี้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้หาข้อมูลแต่นิยมใช้เล่นเกมมากกว่า” นายสุรินทร์ กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น