โดย... จารยา บุญมาก
“โลกาภิวัตน์” ถูกอ้างถึงเสมอยุคที่ความเจริญเข้ามาในรูปแบบทุนนิยม ประเทศที่เพิ่งเปิดใหม่อย่างพม่า กลายเป็นประเทศเนื้อหอม กลุ่มทุนทั่วโลกจ้องมองอย่างใจจดใจจ่อ แต่หากมองแคบลงแค่พื้นที่เอเชียอาคเนย์นั้น จีน ถือเป็นมหาอำนาจทางทุนที่น่ากลัว ขณะที่ไทยเองเห็นด้วยกับการลงทุนหลายด้าน โดยไม่ได้แยแสต่อแรงต่อต้านและผลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มคนชายขอบของไทยเลยแม้แต่น้อย
มนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)ระบุถึงสถานการณ์การลงทุนในประเทศพม่า บนเวทีการประชุม “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า : จริยธรรมกับความรับผิดชอบ” ว่า ขณะนี้ไทยมีแผนการลงทุนด้านพลังงานในพม่าสูงถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใน 3 โครงการหลัก คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน มาย-กก แผนสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน ได้แก่ เขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ที่พัฒนาในรูปแบบการสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึก และเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญานในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับการลงทุนเชิงอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
หลายกรณีเกิดขึ้นในสังคมไทยให้เห็นเสมอว่าทุนเข้าถึง อุตสาหกรรมเข้ารุกไล่ชุมชน สิทธิของความเป็นมนุษย์ท้องถิ่นที่พึ่งพาธรรมชาติ อย่างสงบสุข เริ่มแปรเปลี่ยน
“หากมองแนวโน้มการลงทุนจากอดีตจนปัจจุบัน กระบวนการทุนนิยมเหมือนกันทุกยุค ทุกสมัย คือ เปลี่ยนที่ดิน ลุ่มน้ำ สินแร่ มาเป็นสินค้า เปลี่ยนกรรมสิทธิชุมชนให้เป็นเอกชน แล้วชุมชนก็จะค่อยๆ หายไป อย่างช้าๆ และเงียบๆ” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ทัศนะต่อทุนนิยมที่กัดกร่อนสังคมปัจจุบัน
สถานการณ์การลงทุนของไทยในพม่า ทั้งเขื่อน ทั้งโรงไฟฟ้า ที่ไทย-จีน กำลังร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในพม่าขณะนี้ไม่ใช่แค่การละเมิดสิทธิคนไทย แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน อาทิ ชาวประมงในชุนชนริมทะเลที่ทวาย กะเหรี่ยงและชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า ที่อาจจะต้องหลีกหนีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน
เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่มีการกล่าวถึงประชาคมอาเซียน ประเทศไทยพูดเสมอว่า จะต้องพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่ในความหมายของคำว่าเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับชุมชนเล็กๆที่เข้มแข็งอยู่ได้ด้วยการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับคนที่มีวิถีพอเพียง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนเล็ก คนน้อย หรือแม้แต่การศึกษาที่จะเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาสยังได้ยินน้อย แต่รัฐบาลไทยมองไปแค่เศรษฐกิจการค้า และการลงทุนเท่านั้น
“อาเซียนไม่ใช่เน้นแค่เรื่องการสร้งเศรษฐกิจ การเน้นมิติสังคม วัฒนธรรม ความมั่นคงของคนในสังคมทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การเปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ก็จำเป็นอย่างมากในยุคที่เราต้องเชื่อมต่อกับสังคมอื่น ความสวยงามด้านวัฒนธรรมยังมีเสมอ” นพ.นิรันดร์ กล่าว
หากจะพิจารณาตามหลักความจริงแล้ว ผลกระทบของโครงการพัฒาอุตสาหกรรมและการลงทุนในต่างแดนจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่คนในประเทศเพื่อนบ้านต้องเสียสละเท่านั้น ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น กรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย จะสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน สังเกตว่าคน จ.แม่ฮ่องสอน มีคนไทยอาศัยอยู่ริมสาละวินนับหมื่นคนหากสร้างเขื่อนแล้วน้ำท่วม แน่นอนว่า ไม่ได้เกิดในพม่าอย่างเดียว แต่หมายถึงคนไทยในพื้นที่ด้วย
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนายการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) เล่าถึงทุนไทยเกี่ยวกับพลังงานว่า ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ การลงทุนที่ใหญ่สุดคือการลงทุนในภาคพลังงาน โดยมีจีนและไทยเป็นผู้เข้าไปลงทุนรายใหญ่ หากเปรียบเทียบระหว่างไทยกับพม่าในขณะนี้ พบว่า คนไทยเกือบ 100% มีไฟฟ้าใช้ แต่คนพม่าเข้าถึงไฟฟ้าเพียงร้อยละ 26 อีกกว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเส้นทางสายส่งไฟฟ้า โดยชุมชนมีการสร้างพลังงานทางเลือกใช้เอง เช่น เอาแกลบมาเผาใช้แทนน้ำมัน แต่ปรากฏว่า รัฐบาลพม่า ได้เซ้นสัญญาร่วมกับไทยและจีน เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ประมาณ 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมุ่งสร้างทั้งโรงไฟฟ้า เขื่อน ตามแม่น้ำสำคัญต่างๆ ซึ่งพม่าเชื่อว่า การลงทุนเพื่อการส่งออกไฟฟ้าเป็นการลงทุนเพื่อการเอาเงินมาสร้างทุนผลิตไฟฟ้าให้ประชากรชาวพม่า กลลวงเหล่านี้ทำให้พม่าตกเป็นเป้าของแหล่งผลิตทรัพยากรเพื่อประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน ขณะที่ป่าไม้สักทองในบริเวณการสร้างเขื่อนทั่วชายแดนไทย พม่า ในลุ่มน้ำสาละวินเอง ก็ยังเชื่อกันว่าเป็นแหล่งสินค้าไม้ชั้นดีอย่างมาก หากมีการตัดไม้เพื่อการสร้างเขื่อน
ด้านประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อย่าง สุรจิต ชิรเวทย์ ระบุว่า การต่อสู้ของนักอนุรักษ์และนักสิทธิมนุษยชน ภาคประชาชนในเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ในพม่า นั้นเรียกได้ว่าต้องเลือกรับสิ่งที่เลวน้อยที่สุด เพราะการมองหาสิ่งที่ดีที่สุดยากมาก ในยุคที่เผด็จการเงียบเข้าครอบคลุมไทย
โดย สว.สุรจิต มองว่า การลุงทุนของไทยจะถามหามาตรฐานระหว่างประเทศบริษัทเอกชนพยายามประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทยด้วยวิธีที่หลากรูปแบบทำให้กระบวนการต่อต้านยากขึ้น เช่น กรณีเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว นั้น คณะกรรมาธิการฯ มีการติดตามต่อเนื่อง โดยขณะนี้กำลังตรวจสอบว่า การลงนามความตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง ปี ค.ศ.1995 นั้นเป็นไปอย่างไรและถึงขั้นไหนแล้ว แต่การทำงานก็ลำบาก เพราะนักกฎหมายแต่ละประเทศต่างมีความเห็นว่ามาตรฐานการลงทุนระหว่างประเทศควรเป็นรูปแบบเดียวกับในประเทศ ซึ่งสำหรับไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศได้ แต่ทิศทางการพัฒนาในแนวทางเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เราต้องการน้ำ ไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไม่ใช่เพื่อครัวเรือนคนไทย
สำหรับไทย กรณีศาลปกครองมีคำวินิจฉัยกรณีแผนแม่บทการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 25 ลุ่มน้ำ ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ให้แต่ละโครงการต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการจ้าง และออกแบบแต่ละแผนงาน ทำให้เห็นว่าแม้มีกฎหมายที่เข้มข้นแต่รัฐบาลก็ยังมีความพยามละเมิดกฎหมาย ทั้งยื่นอุทธรณ์ พยายามปรับแก้กฎหมาย ไปเรื่อย
ในตอนท้าย คำแลง ชาติพันธุ์ไทใหญ่ จากประเทศพม่า ได้กล่าวในนามตัวแทนกลุ่มรักสาละวิน (Love Salween Group) ว่า ข่าวการสร้าวเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน คือ ข่าวร้ายของชาติพันธุ์ไม่ต่างจากสงครามความขัดแย้งระหว่างทหารพม่าและชนกลุ่มน้อย ในรัฐฉาน ชาติพันธุ์ทุกคนกลัวการสูญเสียแมน้ำ ป่าไม้ และสูญสิ้นวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมอย่างมาก ทุกครั้งที่ลี้ภัยมาในไทย ยังหวังเสมอว่าจะได้กลับบ้านเมื่อสถานการณ์สงบ แต่ความหวังก็ริบหรี่ลง เมื่อโครงการสร้างเขื่อนเริ่มเข้ามาคุกคาม
“เราเองอยากรณรงค์ หยุดสร้าง แต่เสียงเราก็แค่ชาวบ้าน จะพูดอะไรก็ผิด สิทธิในการอยู่บนแผ่นดินเกิดยังยาก จะเอาสิทธิอะไรไปกล่าวต่อต้านทุนของไทย ฉันพยายามมากในการนำข้อมูลการสร้างเขื่อนเข้าไปบอกต่อเพื่อนบ้านแต่ก็ถูกทหารสกัดกั้นก่อน ในอนาคตหากไทยจะลงทุนสร้างเขื่อนตามเป้าหมาย ฉันคิดว่า คนอพยพต้องมาฝั่งไทยเพิ่มขึ้น เราไม่อยากมาเป็นภาระของไทยมากนัก แค่การอพยพช่วงสงครามก็ลำบากแล้ว หากมีการสร้างเขื่อนเราคงกลายเป็นคนไร้ถิ่นฐานตลอดชีวิต” คำแลง เอ่ยความในใจ
เป็นเรื่องน่าคิดที่ไทย เร่งหาไฟฟ้ามาใช้เพื่อพัฒนาความเจริญ หลายโครงการที่เห็นชุมชนเล็ก ใหญ่ ต้องเสียสละกึ่งบังคับจากภาครัฐทั้งลาว พม่า กัมพูชา เพื่อการพัฒนาของสังคมเมือง เพียงเพราะคำกล่าวเชิงโฆษณาชวนเชื่อว่า ไฟฟ้าจะแพงในอนาคต หากไม่มีการผลิตเพิ่ม สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นทางสว่างให้คนเมือง แต่คนที่อยู่ในภาวะมืดมิด กลับเป็นกลุ่มชายขอบ และชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แทบไม่ไดรับประโยชน์อะไรเลยจากทุนนิยม มิหนำซ้ำยังถูกไล่ที่เสมอมา