xs
xsm
sm
md
lg

“ทวิภาษา” ยาขมหม้อใหญ่ แก้ปัญหาเด็กไทยชาติพันธุ์ ‘อ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ควันหลงจาก “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ที่ปีนี้ แม้แต่เบราว์เซอร์ “กูเกิล (Google)” ยังทำ “ดูเดิล” (Doodle) หรือภาพที่วาดลงบนโลโก้ของกูเกิลด้วยอักษรภาษาไทย เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยรักและใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อีกทั้งช่วยเผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยสู่สายตาชาวโลก

ย้อนกลับไปสมัยคนรุ่นปู่รุ่นย่า แม้จะเรียนขีดๆ เขียนๆ จบเพียง ‘ป.4’ ก็เติบโตเป็นเจ้าสัวร้อยล้านพันล้านได้ ขณะที่เด็กยุคใหม่ซึ่งเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีสมองกล แต่ “ทักษะพื้นฐานในสื่อสาร” ทั้ง “การอ่าน-การเขียน” กลับพัฒนาสวนทางกับความเจริญในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กไทยที่อยู่บริเวณชายขอบประเทศ ที่พบปัญหา “เด็กใช้ภาษาในชีวิตประจำวันต่างจากครูผู้สอน”

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า มีโรงเรียนจำนวน 90 แห่งที่ใช้ “ภาษาในชีวิตประจำวัน” เป็นภาษาชาติพันธุ์ ภาษาแม่ ภาษาบ้านกว่า 30 ภาษา บางโรงเรียนมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันถึง 3 ภาษา จึงไม่น่าแปลกใจถึงปัญหาผลสัมฤทธิ์ต่ำ และปัญหาเด็กหลุดกลางคัน

การจัดเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมพหุวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ทั่วประเทศ จึงมุ่งนำเสนอ นวัตกรรม “ทวิภาษา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในกลุ่มเด็กไทยชาติพันธุ์ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยมี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ให้เกียรติเป็นประธานเช่นเคย

เวทีครั้งนี้ สสค.ได้พันธมิตรใหม่จากโรงเรียนบ้านพุย ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่นักเรียนสัญชาติไทยเป็น “กะเหรี่ยงโปว์ร้อยเปอร์เซนต์” เช่นเดียวกับโรงเรียนวัดวังก์วิเววังการาม อ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนมอญ ผู้คนส่วนใหญ่ร่วมทั้งเด็กรุ่นใหม่ยังรักษาเอกลักษณ์ถิ่นด้วยการ “ใช้ภาษามอญ” ในชีวิตประจำวัน

นางปิยพัทธ์ มีอ่วม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพุย กล่าวว่า เมื่อปัญหาคือเด็กไม่เข้าใจภาษาที่ครูสอน ก็ต้องหา “คนกลาง” มาเป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจ จึงเป็นที่มาของดึง “ครูถิ่น” ทั้งชาวกะเหรี่ยงโปว์ และชาวมอญมาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับครูไทย โดยในเฉพาะในช่วงอนุบาล 1-2 ซึ่งเด็กจะเริ่มเรียนรู้จากการฟังและพูดจากคนใกล้ตัว ฉะนั้นหากเด็กคุยกับครูไม่รู้เรื่อง ก็จะทำให้เบื่อการมาโรงเรียน และจะขาดความสนใจในชั้นเรียน ครูถิ่นจึงเข้ามามีบทบาทสูงในช่วงปฐมวัย โดยจะมีครูไทยเป็นผู้ออกแบบบทเรียนเพื่อให้เนื้อหาครบตามพัฒนาการทุกกลุ่มสาระ โดยมีครูถิ่นช่วยวิเคราะห์และคิดว่า การสอนและเนื้อหาแบบไหนที่จะเชื่อมโยงให้เด็กชาติพันธุ์เข้าใจมากที่สุด

เริ่มจากการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อสารให้ตรงกัน โดยใช้ชีวิตประจำวัน และประเพณีในท้องถิ่นมาอธิบาย ก่อนจะปูพื้นฐานสู่การอ่านเขียนในช่วงชั้นที่สูงขึ้นในระดับอนุบาล 1 นั้น จะเน้นการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อสารให้ตรงกัน โดยเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์

ส่วนในระดับอนุบาล 2 ที่เริ่มการอ่านเขียน นั้นโรงเรียนบ้านพุยได้มีการพัฒนาระบบการเขียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ โดยใช้ “พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไทย” กับเทคนิคการเทียบเสียงในภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยงที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมายให้ได้ก่อน ด้วยอักษรภาษาไทย เพราะภาษากะเหรี่ยงไม่มีตัวอักษร ซึ่งสามารถเทียบได้ทั้งหมด 24 เสียง เช่น เสียงภาษากะเหรี่ยงที่อ่านว่า “ช้าง” แต่ความหมายแปลว่า “ไก่” ก็จะใช้ ช.ไก่

หลังจากนั้นจึงเริ่มให้หัดประสมคำ ให้เกิดความหมายด้วยภาษากะเหรี่ยง ด้วยอักษรและตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ไทย ในสื่อการสอนกล่อง “ผสมคำ” เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝน มากกว่าการท่องจำ “คำ” เป็นตัวๆ ไป โดยในระดับอนุบาลเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฝึกทักษะการพูดอ่านเขียนกับครูถิ่น และเรียนภาษาไทยเพียงเล็กน้อยกับครูไทย ก่อนจะขยายเวลาให้เรียนกับครูไทยมากขึ้น จนเต็มเวลาในช่วงชั้นที่สูงขึ้นต่อไป

การเรียนทวิภษา จึงมีเป้าหมายที่ใช้ภาษาแม่ หรือภาษาถิ่นเป็นพื้นฐาน และเป็นสะพานเขื่อมไปสู่การเรียนภาษาไทย ขณะเดียวกันก็จะทำให้เด็กคงความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองได้

ผศ.วรรณา เทียนมี ประธานมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ได้กล่าวถึงปัญหาของโรงเรียนเในพื้นที่ชายขอบว่า “ในแต่ละพื้นที่จะมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาเรียนในระบบ เด็กต้องใช้ภาษาไทย ทำให้เป็นข้อจำกัดและส่งผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ การมาเรียนจึงเปรียบได้กับยาขมหม้อใหญ่ของเด็กๆเหล่านี้ โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ด้านภาษานั้นต้องเริ่มต้นจากการฟัง ที่เริ่มจากคนใกล้ตัว หัดพูดเป็นคำ และพูดเป็นประโยคในที่สุด หากเด็กมาเริ่มต้นเรียนภาษาจากการเรียนอ่าน และเขียนต้องเป็นการเรียนภาษาที่สอง เช่น การเรียนภาษาอังกฤษต่อจากภาษาแม่ คือ ภาษาไทย เป็นต้น จึงเป็นปัญหาของเด็กชายขอบเหล่านี้ และส่งผลให้เด็กไม่อยากมาเรียนหนังสือ และเลิกเรียนกลางคันในที่สุด”

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.กล่าวว่า เมื่อภาษาเป็นที่มาในการรู้จักตัวเอง รู้จักอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป้าหมายของการรู้ภาษา จึงไม่ใช่เพียงแค่ “การอ่านออกเขียนได้” แต่ภาษานั้นเป็นเครื่องมือที่จะนำสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้เกิดความปรองดองท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลาย 10 กลุ่ม ซึ่งบางครั้งการศึกษาก็ทำให้เราลืมไปว่า เรามีพี่น้องที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา แต่เป็นคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม “ทวิภาษา” เบื้องหลังคือเราได้เรียนรู้ความต่างในเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” จากเพื่อนร่วมชาติ

"สสค.หวังว่าตัวแบบเหล่านี้จะกระจายไปสู่ชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศในประเทศไทย และโรงเรียนชายขอบ เพราะระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้เสมอในการรู้จักวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของเขา ผมเชื่อว่าสังคมที่มีสีสันที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองได้ เพียงแค่เริ่มจากการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันของคนไทยทุกคน"

ภาษาจึงไม่ใช่แค่เป้าหมายในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย!!




กำลังโหลดความคิดเห็น