xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตจัดประชุมแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูชาวเลในพื้นที่ฝั่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกรณีปัญหาการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรณีปัญหาการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโอกาสให้ประชาชน คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลได้มีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ องค์กรเอกชน และกลุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสตูล เข้าร่วม 140 คน

นางสุปราณี จันทรัตนวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชนฯ กล่าวว่า ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน และประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มองค์กรประชาชนที่มาพบ หรือชุมนุมร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว เป็นปัญหาเรื้อรัง และมีความซับซ้อนในการแก้ไข จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ และความเข้าใจในการแก้ปัญหา เพื่อเป็นการรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพสังคมในปัจจุบันได้อย่างสงบสุข

ศูนย์บริการประชาชนฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูคุณภาชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ชาวเล จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการบริหารจัดการภาครัฐ กรณีปัญหาการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มน้อย/คนชายขอบ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาของตนเอง สร้างเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน นักวิชากา และประชาชน ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการดำรงอยู่ของคนชายขอบ และเพื่อกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดำเนินการจะเป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาให้ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอื่นๆ ต่อไป



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น