xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” สั่งทีมปรับหลักสูตรทำพีอาร์ผ่านโซเชียลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” สั่งทีมปรับหลักสูตรเพิ่มช่องทางทำพีอาร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้คนเข้าใจแนวทางปรับหลักสูตร ปฏิรูปการศึกษา เพิ่มขึ้น พร้อมปฏิรูปครอบคลุมทุกวิชา แต่ต้องชูจุดเน้น ชี้ไม่ได้มุ่งแต่เพิ่มผล PISA แต่ทักษะภาษา อ่านคิดวิเคราะห์ คณิตและวิทย์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปสู่การเรียนอื่นๆ ได้อย่างเข้าใจ
แฟ้มภาพ
วันนี้ (16 ต.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากมีการอธิบายรายละเอียดไปแล้วว่า ศธ.ไม่ได้ตัดรายวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีการปรับปรุงใหม่แน่นอน แต่ขณะนี้ก็ยังมีคนไปตั้งประเด็นหลุดโลกใหม่ๆ ขึ้นอีก เช่น จะไม่ให้มีการเรียนการสอนวิชาดนตรีไทย ไม่ให้มีนาฏศิลป์ เหมือนยังไม่รับรู้ในสิ่งที่อธิบายไปแล้ว ในทางกลับกันมุมมองต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นกระจกที่สะท้อนกลับมายัง ศธ.ว่าอาจจะยังขาดการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งคณะ สาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ดังนั้น ตนจึงมอบให้คณะกรรมการปฎิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปเร่งทำการประชาสัมพันธ์โดยเปิดโอกาสให้คนรับรู้และเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ การปรับหลักสูตรของศธ. ครั้งที่ผ่าน ๆ เช่น การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เกิดขึ้นในช่วงที่โซเชียลมีเดียยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายเท่าปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ควรจะต้องมาให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ขณะเดียวกัน อาจจะต้องย้อนกลับไปอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อนำแนวคิดใหม่ๆ ในปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเน้นเรื่องทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในอนาคต อย่างการสอนให้คนรู้จักการคิดวิเคราะห์ มีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับหลักสูตร และการปรับการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องควบคุมกัน ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย

“ส่วนที่มองว่าเป็นเพราะ ศธ.มีนโยบายที่จะเน้นยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการประเมินระดับนานาชาติ ของนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับตามโครงการ Programme for International Student Assessment หรือ PISA จึงทำให้ต้องตัดรายวิชาที่ไม่ส่งผลต่อการประเมินออกนั้น ก็เข้าใจว่าคนอาจจะคิดไปอย่างนั้นได้ แต่ความจริงแล้วการปฏิรูปการเรียนการสอน ต้องปฏิรูปให้ครอบคลุม ในหลักสูตรมีกี่กลุ่มสาระก็ต้องยกระดับคุณภาพให้ครอบคลุมเหมือนกันหมด แต่การที่เราจะยกตัวอย่างการเรียนการสอนแบบใหม่ จำเป็นต้องเลือกบางด้าน บางสาขาวิชาที่เห็นประเด็นชัดเจนว่าคุณภาพการเรียนการสอนตกต่ำจริงๆ คนเห็นปัญหา โดยเฉพาะทักษะด้านภาษา การอ่านการคิดวิเคราะห์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเรียนในอนาคต และถ้าเด็กเก่งใน 3 ด้านนี้ จะทำให้เด็กเรียนวิชาต่างๆ ได้ดี ไม่ได้หมายความเราจะเน้นยกระดับคุณภาพเฉพาะวิชาดังกล่าว” นายจาตุรนต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น