นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม เป็นโครงการต่อเนื่องระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โรคโบทูลิซึ่มยังคงเป็นกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่ยังไม่เปลี่ยนของประชาชน โดยทุกครั้งที่สอบสวนโรคมักพบว่า สาเหตุมาจากการที่ชาวบ้านรับประทานหน่อไม้ปี๊บโดยไม่ได้นำมาต้มก่อน ถึงแม้อุบัติการณ์การเกิดโรคโบทูลิซึ่มจะยังเกิดขึ้นน้อย แต่เป็นแล้วอาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษจากเชื้อโบทูลินั่มที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความสามารถในด้านการตรวจวินิจฉัยเพื่อชันสูตรโรค ทางห้องปฏิบัติการ โดยตรวจวินิจฉัยเชื้อจากตัวอย่างที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว แล้วจึงนำตัวอย่างมาเพาะแยกเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อในภาวะไร้ออกซิเจน ตัวอย่างที่เหมาะสำหรับการตรวจหาเชื้อนี้ ได้แก่ น้ำล้างกระเพาะ อุจจาระ ซีรั่มและอาหารที่ผู้สงสัยว่าได้รับเชื้อรับประทานเข้าไป และนำเชื้อที่เพาะแยกได้มาทดสอบปฏิกิริยาทางชีวเคมีและตรวจพิสูจน์หาชนิดสารพิษ โดยการฉีดในหนูทดลองและตรวจยืนยันชนิดสารพิษ ถ้าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาการผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินั่มได้สำเร็จ นอกจากจะมีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินั่มได้ในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการศึกษาวิจัยการพัฒนาการผลิตเซรุ่มต้านพิษโบทูลินั่มได้ Bivalent botulium antitoxin A, B ตามมาตรฐาน Good Laboratory Practic (GLP) ซึ่งขณะนี้ได้ผลผลิต botulinum antitoxin type A จำนวน 80 ลิตร และ botulinum antitoxin type B อีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้ระดับภูมิคุ้มกันที่มากกว่าหรือเท่ากับ 1000 IU/ml เตรียมที่จะทำให้บริสุทธิ์และทำการทดสอบเพิ่มในสัตว์ทดลอง ในอนาคตจะดำเนินงานโครงการวิจัยต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งคาดว่าผลความสำเร็จจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะทำให้ได้ Bivalent botulinum antitoxin A, B เพื่อใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโบทูลิซึ่มได้ทันเวลาและเป็นการพึ่งพาตนเองในระยะยาว
• กรมสุขภาพจิต ย้ำ ตราบาป อุปสรรคสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย พร้อมเปิดตัว Smile Hub แอพพลิชั่น ประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลก สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention, IASP) จึงได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย ว่า สามารถป้องกันได้ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 11 โดยมีคำขวัญประจำปี คือ “ Stigma : A Major Barrier to Suicide Prevention” (ตราบาป : เป็นอุปสรรคสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย)
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลกปีละ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 40 วินาที และจะส่งผลต่อคนรอบข้างผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคนในแต่ละปี
ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย 1.53 ล้านคน อีกทั้งสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ประมาณอัตราส่วนของผู้ที่พยายามทำร้ายตัวเองแต่ไม่สำเร็จมีสูงกว่าผู้ทำสำเร็จถึง 25 เท่า สำหรับประเทศไทยแต่ละปี มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ มากกว่า 3,500 ราย และปีล่าสุด 2555 มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 3,985 ราย คิดเป็น 6.20 รายต่อประชากรแสนคน และสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03 รายต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่นๆ โดยจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ คือ จังหวัดน่าน รองลงมาคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สิงห์บุรี ตราด ลำพูน พะเยา และอุทัยธานี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่ของคนที่ฆ่าตัวตาย ต้องทนทุกข์ทรมาน จากความเจ็บป่วยทางจิต และที่สำคัญขาดการเข้าถึงการบำบัดรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดตราบาป (Stigma) ที่ฝังรากลึกในสังคม ตราบาป คือ อคติ ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งมีความแตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ ทั่วไป ส่งผลต่อชีวิตและการทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่น ภาวะความผิดปกติทางจิตใจ กลายเป็นตราบาปที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยก กีดกัน ถูกแยกออกจากคนทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางจิต จะรู้สึกว่าตนเองมีตราบาป ส่งผลให้ขาดความเชื่อถือในตนเอง ชอบแยกตัว และไร้ความหวัง หลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมทั้งส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในสังคม ไม่อยากทำงาน ซึ่งตราบาปเปรียบเสมือนการติดสลาก ระบุว่า คน ๆ นั้นมีความผิดปกติแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในสังคม แม้ว่า ปัจจุบันจะได้รับความรู้เรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ตราบาปก็ยังคงอยู่ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงจะเป็นบุคคลอันตราย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนหนึ่งจะถูกมองว่า เสแสร้ง หรือแกล้งทำให้เกิดอาการ น่าเบื่อหน่าย การฆ่าตัวตายมักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักถูกเยาะเย้ย หรือซ้ำเติม ปัญหาทางจิตส่วนหนึ่งก็ถูกมองว่าแก้ไขไม่ได้ เป็นเรื่องของนิสัย หรือถ้าได้รับการรักษาก็รักษาไม่หาย ผู้ป่วยทางจิตที่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ก็ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อชุมชนตลอดชีวิต ทำให้สังคมรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจ ญาติรู้สึกอับอายที่มีผู้ป่วยทางจิตอยู่ในครอบครัว รวมทั้งภาพที่ปรากฏออกมาจากสื่อต่างๆ เช่น การนำเสนอภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายคนอื่น ล้วนแล้วก่อให้เกิดภาพด้านลบตอกย้ำให้เกิดตราบาปให้แก่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคม ซึ่งในความเป็นจริง โรคทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่โรคร้าย ไม่ใช่ตราบาป เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ มีแค่คนบางคนเท่านั้นที่มีพฤติกรรมรุนแรง
การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ การลดตราบาป ก็เป็นหนทางหนึ่งในการช่วยป้องกัน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากตัวเองและคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ รัฐบาล ชุมชน ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสนิทมิตรสหาย ที่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคจิตเวชมากที่สุด แนวทางป้องกันสำหรับบุคคล คือ การฝึกคิดและมองโลกเป็นบวก โดยต้องฝึกปฏิบัติจนให้ติดเป็นนิสัย ผู้ที่มองโลกเชิงบวกสม่ำเสมอ เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย ย่อมสามารถพลิกวิกฤติขึ้นมาได้ทันที เพราะคนเหล่านี้จะเชื่อว่า จะพบทางออกในทุกๆ ปัญหา ตลอดจนฝึกการออกกำลังกายเพื่อสะสมสารแห่งความสุข นอกจากนี้ หากรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ควรขอความช่วยเหลือทันที โดยอาจคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเพื่อระบายความทุกข์ ลดความกดดัน หรือพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที สำหรับแนวทางป้องกันสำหรับครอบครัวซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ไปได้ ก็คือ การเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งโดยปกติ การฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือน อาทิ การเขียนจดหมาย ลาตาย การตัดพ้อ ชีวิตไม่มีค่า รู้สึกสิ้นหวัง ประกอบกับหากมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม บุคลิกของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจส่งสัญญาณด้วยการพูด หรือทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่บางคนก็ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย ซึ่งคนใกล้ชิดอาจไม่สามารถช่วยอะไรได้ทัน ดังนั้น นอกจากการเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมแล้ว ก็ควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ตำหนิวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น และคอยเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ ก็จะช่วยได้ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษา ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายรวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ของทุกกลุ่มวัยได้ โดย การโหลดแอพพลิเคชั่น smile hub ทั้งระบบ Android และ iOS ได้ฟรี อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
• ความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย
ณ ห้องรับรอง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม กรรมการการอาชีวศึกษาและประธานคณะอนุกรรมการการอาชีวศึกษาด้านการกำหนดนโยบายเป้าหมายการผลิตและแผนพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้การต้อนรับนางสาวเจน ทีรัลล์ ที่ปรึกษาทูตฝ่ายการศึกษาและวิจัย สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียและคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือด้านการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างประเทศไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การนำครูอาสาสมัครชาวออสเตรเลียมาสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาที่จัด English Program (EP) โดยจะสอนในวิชาภาษาอังกฤษทั่วไป (General English) และวิชาเฉพาะทาง (Technical English) เช่น วิชาเกษตรกรรม 2.การพัฒนาครูอาชีวศึกษา และหลักสูตรอาชีวศึกษาในสาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการ (hospitality) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. คุณวุฒิวิชาชีพ โดยจะมีการประชุมและทำงานร่วมกันระหว่างไทย-ออสเตรเลีย เพื่อผลักดันกรอบคุณวุฒิวิชาชีพของไทย
• สคบ.ทดสอบแล้ว อาหารทะเลบ้านเพปลอดภัย
จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จนส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกต่อการบริโภคอาหารทะเลที่อาจมีการปนเปื้อนสารโพลีไซคลิคอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ในน้ำมันดิบที่รั่วออกมา กรณีดังกล่าวนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ สคบ.ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าอาหารทะเลมาทำการตรวจสอบความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา นายเสถียร วิพรมหา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และนายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำทีม สคบ.โดยศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ร่วมกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Central Lap Thai ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหารทะเลในตลาดบ้านเพ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคอาหารทะเลกลับคืนมา
โดยได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าอาหารทะเลมาจาก 3 จุด ประกอบด้วย 1.บริเวณตลาดสดบ้านเพ 2.ตลาดสินค้าครบวงจร หมู่ 1 และ3.บริเวณจุดจำหน่ายอาหารทะเล ริมชายหาดสวนสน หมู่ 4 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง โดยเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำทะเล 16 ชนิดตัวอย่าง อาทิ กุ้ง หอยนางรม หอยแครง หอยเชลล์ ปูม้า ปลาหมึก ปลาเก๋า และปลากะพง เป็นต้น เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนดังกล่าว
ซึ่งจากผลการทดสอบไม่พบการปนเปื้อนของสารโพลีไซคลิคอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ในตัวอย่างอาหารทะเลที่สุ่มเก็บมาทดสอบทั้งหมดทั้ง 16 ตัวอย่าง ดังนั้นผู้บริโภคสามารถมั่นใจในการบริโภคอาหารทะเลจากจังหวัดระยองได้
ถ้าหากว่าประชาชนท่านใดมีความสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเล หรือต้องการร้องเรียน สามารถติดต่อมาได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือร้องเรียนผ่านทางช่องทางต่างๆได้ทั้งทางระบบร้องเรียนออนไลน์ที่ www.ocpb.go.th ทางไปรษณีย์ที่สามารถขอแบบฟอร์มร้องทุกข์ได้จากเซฟเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ร้านจิฟฟี่ในปั๊ม ปตท. ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ หรือที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดในจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เทศบาล อบต. ที่ท่านอาศัยอยู่ทุกจังหวัด รวมถึงศูนย์ กศน. ตำบล เป็นต้น
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)