กรมสุขภาพจิตย้ำ “ตราบาป” อุปสรรคสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย พร้อมเปิดตัว Smile Hub แอพพลิชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลก สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention, IASP) จึงได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย ว่า สามารถป้องกันได้ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 11 โดยมีคำขวัญประจำปี คือ “ Stigma : A Major Barrier to Suicide Prevention” (ตราบาป : เป็นอุปสรรคสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย)
โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลกปีละ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 40 วินาที และจะส่งผลต่อคนรอบข้างผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคนในแต่ละปี ทั้งยังพบว่า ผู้ทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มีมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่า ผู้ทำร้ายตนเอง จะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะ 1 ปี หลังการทำร้ายตนเองครั้งแรก เพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเองจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
สำหรับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ได้แก่ กรีนแลนด์ เกาหลีใต้ คาซัคสถาน จีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 58 ของโลก มีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยที่ 5.9 คนต่อประชากรแสนคน
จากการจัดอันดับสาเหตุการฆ่าตัวตายตามกลุ่มอายุ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรกลุ่มอายุ 15-49 ปี แซงหน้าการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โรคเอดส์ และอุบัติเหตุบนท้องถนน
องค์การอนามัยโลกยังได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย 1.53 ล้านคน อีกทั้งสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายได้ประมาณอัตราส่วนของผู้ที่พยายามทำร้ายตัวเองแต่ไม่สำเร็จมีสูงกว่าผู้ทำสำเร็จถึง 25 เท่า
สำหรับประเทศไทย แต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ มากกว่า 3,500 ราย และปีล่าสุด 2555 มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 3,985 ราย คิดเป็น 6.20 รายต่อประชากรแสนคน และสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03 รายต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่นๆ โดยจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ คือ จังหวัดน่าน รองลงมาคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สิงห์บุรี ตราด ลำพูน พะเยา และอุทัยธานี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่ของคนที่ฆ่าตัวตาย ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยทางจิต และที่สำคัญขาดการเข้าถึงการบำบัดรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิด “ตราบาป” (Stigma) ที่ฝังรากลึกในสังคม
ตราบาป คือ อคติ ที่ทำให้คนคนหนึ่งมีความแตกต่างจากบุคคลอื่นๆทั่วไป ส่งผลต่อชีวิตและการทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่น ภาวะความผิดปกติทางจิตใจ กลายเป็นตราบาปที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยก กีดกัน ถูกแยกออกจากคนทั่วไป
ผู้ที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางจิตจะรู้สึกว่า ตนเองมีตราบาป ส่งผลให้ขาดความเชื่อถือในตนเอง ชอบแยกตัว และไร้ความหวัง หลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมทั้งส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในสังคม ไม่อยากทำงาน
ซึ่งตราบาปเปรียบเสมือนการติดสลาก ระบุว่า คนคนนั้นมีความผิดปกติแตกต่างจากคนอื่นๆในสังคม แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับความรู้เรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ตราบาปก็ยังคงอยู่ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงจะเป็นบุคคลอันตราย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนหนึ่งจะถูกมองว่า เสแสร้งหรือแกล้งทำให้เกิดอาการ น่าเบื่อหน่าย การฆ่าตัวตายมักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักถูกเยาะเย้ย หรือซ้ำเติม
ปัญหาทางจิตส่วนหนึ่งก็ถูกมองว่า แก้ไขไม่ได้ เป็นเรื่องของนิสัย หรือถ้าได้รับการรักษาก็รักษาไม่หาย ผู้ป่วยทางจิตที่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ก็ถูกมองว่า เป็นอันตรายต่อชุมชนตลอดชีวิต ทำให้สังคมรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจ ญาติรู้สึกอับอายที่มีผู้ป่วยทางจิตอยู่ในครอบครัว รวมทั้งภาพที่ปรากฏออกมาจากสื่อต่างๆ เช่น การนำเสนอภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายคนอื่น ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดภาพด้านลบ ตอกย้ำให้เกิดตราบาปให้แก่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และผู้ป่วยจิตเวชในสังคม
ทั้งๆที่ในความเป็นจริง โรคทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่โรคร้าย ไม่ใช่ตราบาป เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ มีแค่คนบางคนเท่านั้นที่มีพฤติกรรมรุนแรง
การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ การลดตราบาปก็เป็นหนทางหนึ่งในการช่วยป้องกัน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากตัวเองและคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ รัฐบาล ชุมชน ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสนิทมิตรสหาย ที่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคจิตเวชมากที่สุด
แนวทางป้องกันสำหรับบุคคล คือ การฝึกคิดและมองโลกเป็นบวก โดยต้องฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย ผู้ที่มองโลกเชิงบวกสม่ำเสมอ เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย ย่อมสามารถพลิกวิกฤติขึ้นมาได้ทันที เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า จะพบทางออกในทุกๆ ปัญหา ตลอดจนฝึกการออกกำลังกาย เพื่อสะสมสารแห่งความสุข
นอกจากนี้ หากรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ควรขอความช่วยเหลือทันที โดยอาจคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเพื่อระบายความทุกข์ ลดความกดดัน หรือพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อรับการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที
ส่วนแนวทางป้องกันสำหรับครอบครัว ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆไปได้ ก็คือ การเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งโดยปกติ การฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือน อาทิ การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อชีวิตว่าไม่มีค่า รู้สึกสิ้นหวัง ประกอบกับหากมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
แต่อย่างไรก็ตาม บุคลิกของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจส่งสัญญาณด้วยการพูด หรือทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่บางคนก็ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย ซึ่งคนใกล้ชิดอาจไม่สามารถช่วยอะไรได้ทัน
ดังนั้น นอกจากการเอาใจใส่สังเกตพฤติกรรมแล้ว ก็ควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ตำหนิวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น และคอยเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ ก็จะช่วยได้
• สายด่วน!!! สุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิตได้เปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการประชาชนทุกเพศทุกวัย ในการรับฟังและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาความเครียดในเรื่องต่างๆ และสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย โดยการโหลดแอพพลิเคชั่น smile hub ทั้งระบบ Android และ iOS ได้ฟรี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)