xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยพบ เศรษฐกิจขาขึ้นอาจส่งผลให้คน “ตายเร็ว” ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – เราทุกคนจะมีอายุยืนยาวขึ้น เมื่อมีช่วงเวลาที่ดีๆ ในชีวิต คำกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วย ทว่างานวิจัยฉบับใหม่กลับชี้ว่าเราอาจกำลังคิดผิด เนื่องจากพบว่า ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วผู้สูงอายุจะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มที่

การค้นพบครั้งนี้เป็นสิ่งที่ “อยู่เหนือความคาดหมายเอามากๆ” เฮอร์เบิร์ต โรลเดน สถาบันลีย์เดนว่าด้วยความมีชีวิตและความสูงวัยในเนเธอร์แลนด์ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

เราต่างเชื่อกันว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะส่งผลให้คนทุกวัยมีอัตราการตายที่ต่ำลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากผู้สูงอายุมีอัตราการตายลดฮวบ

แต่ความเชื่อเช่นนี้กำลังจะเปลี่ยนไป หากคุณพิจารณาความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ รายงานฉบับนี้ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยาและอนามัยชุมชน (Journal of Epidemiology and Community Health) ระบุ

เมื่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นทุกๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ อัตราการตายของชายที่มีอายุระหว่าง 70 ถึง 74 ปีจะเพิ่มขึ้นราว 0.36 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับผู้หญิงในช่วงอายุเดียวกันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.18 เปอร์เซ็นต์ รายงานฉบับนี้ชี้

สำหรับผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40-45 ปี จะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างใกล้เคียงกันคือ 0.38 เปอร์เซ็นต์ และหญิงในช่วงวัยเดียวกันจะเพิ่มขึ้นง 0.16 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์ตัวเลขการตาย และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างปี 1950 ถึง 2008 ในประเทศพัฒนาแล้ว 19 ประเทศด้วยกัน เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรป

“เนื่องจากชาติพัฒนาแล้วหลายชาติกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทุกคนสามารถคาดการณ์ได้ว่า ปัญหานี้จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการดำรงอยู่ของประชากรผู้สูงอายุ” รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกต

“อย่างไรก็ตาม เรากลับพบว่าอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หรือค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ที่ลดลงในแต่ละปีนั้นมีความเชื่อมโยงกับอัตราการตายที่ลด ‘ต่ำลง’ ”

นอกจากนี้ แนวโน้มที่คล้ายคลึงกันและขัดกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมเช่นนี้ ยังปรากฏในกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นอีกด้วย

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งสมมติฐานว่า แนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดจากการที่คนในช่วงวัยนี้มีความเครียดในเรื่องงาน และประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู

แต่ปัจจัยประเภทนี้ก็ยังไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงวัย และคนที่ปลดเกษียณแล้วเสียชีวิตเร็วขึ้น โรลเดนชี้

“เรายังมองไม่เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายความเกี่ยวโยงกันระหว่างสองสิ่งนี้ได้” เขากล่าวอย่างยอมรับ

สาเหตุอาจอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคม โดยญาติและเพื่อนๆ ที่มีอายุน้อยกว่าต้องอุทิศเวลาในการทำงานกันมากขึ้น จึงทำให้มีเวลาดูแลผู้สูงอายุน้อยลง ทฤษฎีหนึ่งที่ยังไม่ผ่านการทดลองตั้งข้อสังเกต

ส่วนแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งหันไปโทษมลภาวะทางอากาศ ที่มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว และดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อคนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแออย่างผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าเดิม

คณะผู้วิจัยกลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีก โดยพวกเขากล่าวทิ้งท้ายว่า การไขปริศนาข้อนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น