บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยเผยงานวิจัยโครงการ “ความท้าทายของพลังงานในอนาคต” (Future Energy Survey) มุ่งสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ 400 คน ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญด้านความต้องการพลังงานในอนาคตเป็นอันดับแรก เทียบเท่ากับปัญหาการจราจรที่แออัดในอัตรา 92% และระบบการศึกษาของภาครัฐในอัตรา 91% และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากสุด
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เชลล์ได้มอบหมายให้บริษัท อิปซอสส์ ดำเนินการสำรวจเรื่องความท้าทายของพลังงานในอนาคตในประเทศไทย เพื่อประเมินความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประมาณ 400 คนจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ โดยแบบสำรวจนี้เน้นสอบถามความต้องการพลังงานในอนาคตของคนไทย รวมถึงความสำคัญในการใช้พลังงานและบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตด้านพลังงานให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติและแบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์จำลองในปี พ.ศ. 2573 ว่า ความต้องการพลังงาน น้ำ และอาหารบนโลกจะเพิ่มมากขึ้นราว 40-50% เพื่อรองรับความต้องการและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ พลังงานเป็นสิ่งที่ใช้ในการบำบัดน้ำ น้ำถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลิตพลังงาน และทั้งพลังงานและน้ำล้วนเป็นปัจจัยในการผลิตอาหาร ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยตระหนักดีถึงปัญหาเหล่านี้ โดยพวกเขาบอกว่าการขาดแคลนพลังงาน (91%) รวมถึงราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น (89%) ตลอดจนการขาดแคลนน้ำ (87%) และอาหาร (80%) จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
“ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าความต้องการพลังงานในอนาคตถือเป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ ทั้งยังตระหนักดีว่าทรัพยากรพลังงาน น้ำ และอาหารต่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร” นายอัษฎากล่าว
ผลการสำรวจเรื่องความท้าทายของพลังงานในอนาคตยังแสดงให้เห็นว่าชาวไทยสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (83%)^ โดยคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานของพวกเขาในอนาคต ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยังระบุถึงแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคตได้ คือ พลังงานน้ำ (54%)^ พลังงานลม (41%)^ และก๊าซธรรมชาติ (35%)^ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ได้สะอาดกว่าและจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า 92% ของจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด หรือเทียบเท่าคนไทย 9 ใน 10 คนเห็นว่าความต้องการพลังงานในอนาคตถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญเทียบเท่าปัญหาอื่นๆ ที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นประเด็นหลักเพิ่มเติม ได้แก่ สภาพการจราจรที่แออัด (92%) ระบบการศึกษาของภาครัฐ (91%) ค่าครองชีพ (89%) ตลอดจนระบบสาธารณสุข (88%) และมลภาวะทางอากาศ (88%)