นครศรีธรรมราช - ภาคประชาชนจัดเวทีเปิดความจริงและทางออกสถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ เชื่อมั่นยังมีเสถียรภาพสูง เตรียมเสนอภาครัฐขอมีส่วนร่วมทำแผนพลังงานจังหวัดนำร่อง ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ปฏิเสธเข้าร่วม อ้างไม่มีคำสั่ง
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเมืองลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เครือข่ายภาคประชาสังคมนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับสภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชน และตัวแทนจากชุมชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ได้ร่วมกันจัดเวทีเปิดความจริงและทางออกสถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ โดยมีวิทยากรจากหลายภาคส่วนเข้าให้ความรู้ และวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ และเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อย่างหลากหลาย บนพื้นฐานของข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และกระทรวงพลังงานที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่
นายศุภกิจ นันทะวรกร ตัวแทนจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ระบุว่า ถ้าติดตามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนเลย ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,135 เมกะวัตต์ และหากรวมการผลิตจากสุราษฎร์ธานีเข้าไปด้วยจะสูงถึง 2,375 เมกะวัตต์ และตามแผนของรัฐรวมกับพลังงานไฟฟ้าจากมาเลเซีย และภาคกลางอีกจะมีสูงถึง 3,275 เมกะวัตต์ ในอนาคตปี 2557 โรงไฟฟ้าจะนะ 2 จะเดินเครื่องมีพลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีก 800 เมกะวัตต์ จะมีพลังงานอย่างเพียงพอ
ขณะที่พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้อยู่ที่ 29 เมกะวัตต์ และในเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา พลังงานทดแทนผลิตได้ 148 เมกะวัตต์ และสามารถขายเข้าสู่ระบบไปแล้ว 118 เมกะวัตต์ พลังงานเหล่านี้หากได้รับการพัฒนาจะมีอยู่อย่างเพียงพอ
ส่วน อ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระแสดงความเห็นว่า ถ้าระบบความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศไทยขึ้นอยู่กับฟ้าผ่าน่าห่วงมาก แต่จริงๆ แล้วไม่เชื่อในทางเทคนิคเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าบอกเองว่า เป็นไปไม่ได้ ถ้าดับเพราะไฟฟ้าไม่พออีกเรื่อง แต่ตัวเลขของภาคใต้ถูกบิดเบือนตลอด ที่การไฟฟ้าบอกนั้นเชื่อถือไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการคือต้องการความจริงที่ครบถ้วน วันนี้ยังสรุปไม่ได้เลยว่าดับเพราะอะไร วิถีชีวิตและชุมชนถูกละเลยไปมาก
ภายหลังจากการเสวนา ได้มีการสรุปทางออกของสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ นายมานะ ช่วยชู สมาคมดับบ้านดับเมือง ได้สรุปว่าจากข้อมูลทั้งหมดนั้น เราเชื่อว่าพลังงานในภาคใต้มีเพียงพอ ซึ่งในอนาคตทั้งในปี 57 และปี 59 ไฟฟ้าในภาคใต้จะมีสูงกว่า 4 พันเมกะวัตต์ ขณะที่การใช้งานราว 2,400 เมกะวัตต์เท่านั้น
“เราจะร่วมกันทำหนังสือให้มีการสอบสวนในเรื่องของไฟฟ้าดับในภาคใต้ โดยจะเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะต้องออกมาชี้แจงว่า ไฟฟ้าดับเกิดจากสาเหตุใด และใครควรรับผิดชอบ ส่วนในทิศทางการพัฒนาเครือข่ายจะร่วมกันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และชีวมวล นอกจากนั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช จะต้องจัดทำแผนพลังงานจังหวัดนำร่องเป็นจังหวัดแรก ในส่วนนี้ทางภาคประชาชนจะทำหนังสือเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดด้วยประชาชนเอง” นายมานะกล่าว