ส.อ.ท.นัดถกด่วน! 27 พ.ค.หาจุดยืนรับมือกรณีไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ก่อนสรุปแนวทางเสนอ “พลังงาน” ต่อไป ย้ำปัญหานี้เป็นความมั่นคงชาติต้องใช้ข้อเท็จจริงพูดคุยกัน เรกูเลเตอร์ถก 3 การไฟฟ้าวันเดียวกันวางระเบียบสั่งจ่าย ดับไฟใหม่
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ค.) ส.อ.ท.จะหารือร่วมกับสมาชิกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้เพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีการเกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมาว่าระยะสั้น กลาง และยาวจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีแนวทางและยุทธศาสตร์อย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ส.อ.ท.จะนำเสนอให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณานำไปประกอบแผนงานของรัฐบาลต่อไป
“ผมอยากให้ทุกคนพูดในเชิงเทคนิคและข้อเท็จจริง ไม่ต้องการให้ใช้ความรู้สึกมาพูดกัน เพราะขนาดไฟดับเล็กน้อยเท่านี้ยังเกิดผลกระทบต่อธุรกิจและการท่องเที่ยว แล้วถ้าระยะยาวไฟฟ้าไม่พอจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้น ความมั่นคงด้านพลังงานของชาติเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน” นายพยุงศักดิ์กล่าว
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ด้านเทคนิคเชื่อว่าทุกฝ่ายย่อมรู้แก่ใจดีว่าไฟที่ภาคใต้นั้นส่วนหนึ่งต้องจ่ายจากภาคกลางไปช่วยและระบบสายส่งยาวมากขนาด 230Kv ทำให้เกิดการสูญเสียในระบบ แต่สายส่ง 500 Kv เองก็ไปถึงแค่ประจวบคีรีขันธ์ การที่รัฐบาลจะลงทุนเพิ่มลากยาวไปถึงนครศรีธรรมราช ภูเก็ต ก็คงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ความมั่นคงที่แท้จริงภาคใต้จะต้องพึ่งการผลิตไฟให้พอต่อความต้องการของตนเอง แต่จะเป็นจังหวัดไหน เชื้อเพลิงอะไรก็ต้องมาหาจุดยืนร่วมกัน
“การลงทุนไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรที่สุดประชาชนก็จะต้องแบกรับภาระเหล่านั้นผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft เวลานี้สังคมไทยจะต้องมีเหตุผลกันมากขึ้น การที่เอาไฟส่งภาคกลางไปช่วยมันเสี่ยงอยู่แล้ว และกรณีไม่เอาโรงไฟฟ้าเลยแล้วให้คนภาคอื่นเขาสร้างส่งไปอันนี้มันก็ไม่ยุติธรรมอีก มันต้องฟังเหตุและผลจากทุกฝ่ายว่าถ้าไม่เอาถ่านหิน เอาก๊าซฯ พลังงานหมุนเวียนไหม และยอมรับค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้นหรือไม่” นายเทียนไชยกล่าว
นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (27 พ.ค.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะหารือร่วมกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อวางแนวทางป้องกันไฟฟ้าตก/ไฟฟ้าดับ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน หลังปีนี้เกิดปัญหาไฟตกไฟดับหลายครั้ง โดยเฉพาะไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้
ทั้งนี้ ล่าสุดได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีนายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการเรกูเลเตอร์เป็นประธาน เพื่อวางแนวทางหลักการอำนาจในการตัดสินใจสั่งศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วในการสั่งดับหรือหยุดการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำกัดพื้นที่ ความเสียหาย แทนความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยหลักเกณฑ์ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากข้อปฏิบัติเดิมของ 3 การไฟฟ้ามีแนวทางวางไว้บ้างแล้ว
“อำนาจสั่งจ่ายหรือดับไฟฟ้าของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าจะมอบให้ทางศูนย์ตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบก็จะมีเป็นพื้นที่ๆ ไป ซึ่งจะลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในภาพรวมได้ และการหารือในวันจันทร์ก็จะนำมาเป็นแนวทางวางหลักเกณฑ์ทั้งหมด” นายกวินกล่าว