xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสแกนเด็กพบอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 2 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เผยผลการวัดระดับอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้พบเด็กป.3 และ ป.6 อ่านไม่ได้กว่า 2 แสนคน นักเรียนส่วนใหญ่อยู่จังหวัดชายแดนใต้ระบุไม่ใช่ความผิดของครู-ผู้บริหารเร่งหาแนวทางแก้ไข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (24 ก.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ตั้งเป้าให้สถานศึกษาปลอดเด็กอ่านไม่ออกภายในสิ้นปีการศึกษา 2556 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการสแกนทักษะการอ่านของนักเรียน ป.3 และ ป.6 ทั่วประเทศไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้แบบทดสอบคัดกรองของสพฐ.ซึ่งจะจำแนกเด็กออกเป็น 4 กลุ่มตามทักษะการอ่านของเจ้าตัว
ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 181 เขต ได้ส่งผลการคัดกรองนักเรียนที่อ่านไม่ออกมาแล้ว เหลือเพียงอีก 2 เขตที่อยู่ระหว่างเสนอข้อมูล พบว่า มีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกรุนแรงต้องเร่งแก้ไขในระดับชั้น ป.6 จำนวน 7,920 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 441,988 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ส่วนชั้น ป.3 มีจำนวน 25,373 คน จาก 442,618 คน คิดเป็นร้อยละ 5.7 นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง ในระดับชั้น ป.6 จำนวน 27,943 คน คิดเป็นร้อยละ 6.3 และระดับชั้น ป.3 จำนวน 43,028 คน คิดเป็นร้อยละ 9.7 รวมทั้ง 2 กลุ่มแล้ว มีนักเรียนที่อ่านไม่ออกรุนแรงและต้องปรับปรุงในระดับชั้น ป.6 มีจำนวนทั้งสิ้น 35,863 คน และระดับชั้น ป.3 จำนวน 68,401 คน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกรุนแรงมากที่สุด มีดังนี้ ระดับชั้น ป.6 ได้แก่ สพป.ยะลา เขต 2 ร้อยละ 12.76 สพป.นราธิวาส เขต 1 ร้อยละ 10.08 สพป.ปัตตานี เขต 1 ร้อยละ 9.5 สพป.นราธิวาส เขต 3 ร้อยละ 7.56 สพป.นราธิวาส เขต 2 ร้อยละ 6.95 สพป.ปัตตานี เขต 3 ร้อยละ 6.73 สพป.เชียงใหม่ เขต 5 ร้อยละ 6.04 สพป.มุกดาหาร ร้อยละ 5.96 ส่วนระดับชั้น ป.3 ได้แก่ สพป.ยะลา ร้อยละ 34.95 สพป.นราธิวาสเขต 2 ร้อยละ 26.25 สพป.นราธิวาสเขต 3 ร้อยละ 26.24 สพป.ปัตตานี เขต 3 ร้อยละ 25.39 สพป.นราธิวาส เขต 1 ร้อยละ 25.12 สพป.ปัตตานี เขต 1 ร้อยละ 23.80 สพป.นครพนม เขต 1 ร้อยละ 22.89 สพป.ยะลา เขต 3 ร้อยละ 21.53 สพป.เชียงใหม่เขต 3 ร้อยละ 19.08 และสพป.เชียงใหม่ เขต 5 ร้อยละ 17.27 จากข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นเขตพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง สพฐ.กำลังวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมเพื่อดูการกระจายตัว และจำแนกตามกลุ่มและขนาดของโรงเรียนต่อไป

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ สพฐ.รายงานมา พบว่า ในระดับชั้น ป.3 มีนักเรียนที่อยู่ในข่ายต้องปรับปรุงจำนวน 127,800 คน แยกเป็นนักเรียนที่อ่านไม่ได้เลยจำนวน 27,000 คน หรือ 6.27%, นักเรียนที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับปรับปรุง ประมาณ 23,700 คน หรือ 5.32%, อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ ประมาณ 14,600 คน หรือ 3.2% อ่านได้ เข้าใจบ้าง ประมาณ 62,000 คน หรือ 14%

ส่วนระดับชั้น ป.6 มีนักเรียนที่อยู่ในข่ายต้องปรับปรุง 73,290 คน แยกเป็นนักเรียนที่อ่านไม่ได้เลยจำนวน 7,880 คน หรือ 1.77%, นักเรียนที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับปรับปรุง ประมาณ 6,750 คน หรือ 1.52%, อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ ประมาณ 7,080 คน หรือ 1.59% อ่านได้ เข้าใจบ้าง ประมาณ 51,580 คน หรือ 11.6%

เฉพาะเด็ก 2 ชั้นนี้ มีเด็กที่อยู่ในข่ายปรับปรุงเกือบ 2 แสนคน ซึ่งตัวเลขนี้ก็ไม่แน่ใจว่า เขตพื้นที่ฯ โรงเรียนอะลุ่มอะล่วยบ้าง เพราะกลัวตัวเลขออกมาสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งผมอยากทำความเข้าใจว่า ถึงตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ ก็ไม่ใช่ความผิดครูหรือผู้บริหาร แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องเผชิญความจริงและหาทางแก้ปัญหา และอยากทำความเข้าใจกับเด็กและผู้ปกครองด้วยว่า อย่ามองเด็กที่อ่านไม่ออกว่าเป็นคนที่มีปัญหา ขณะเดียวกันก็ไม่ควรตำหนิครูที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล เพราะไม่ใช่ความผิดของครูหรือโรงเรียน แต่เป็นความล้มเหลวของระบบจัดการศึกษา ซึ่งกำลังหาทางแก้ไขอยู่” นายจาตุรนต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น