xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา 3 เรื่อง 1 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” ฟุ้งทุกฝ่ายหนุน ศธ.เดินหน้านโยบายยกระดับการศึกษา เตรียมทำแผนขับเคลื่อนให้เสร็จใน 3 เดือน พร้อมเร่งแก้ปัญหา 3 ประเด็นด่วน ทั้งปฏิรูปอาชีวศึกษา ปฏิรูปการเรียนการสอน และการใช้ไอซีที ด้านภาคเอกชนจี้ ศธ.ผลิตกำลังคนรองรับฝ่ายผลิต

วันนี้ (22 ก.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมปฏิบัติการ “รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ว่า จากการรับฟังความเห็น 2 เวที พบว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันกับนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาของ ศธ.8 ข้อ ซึ่งหลังจากนี้ ศธ.จะนำไปสรุปแผนขับเคลื่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 เดือน โดยในบางเรื่องจะดำเนินการให้เห็นผลทันทีในสิ้นปีการศึกษานี้ อาทิ ปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออกสื่อสารไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 ต.ค.นี้ ศธ.จะเริ่มดำเนินการก่อนใน 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การปรับการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยจะให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่การวางแผนผลิตนักศึกษา โดยปรับหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มีการประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจว่าอาชีวะยุคใหม่จัดการศึกษาอย่างไร เพื่อเปลี่ยนค่านิยมให้คนสนใจมาเรียนต่อสายอาชีพ ซึ่งคาดหวังว่าหลังดำเนินการทั้งหมด จะทำให้ปีการศึกษาหน้ามีเด็กสนใจเรียนสายอาชีพมากขึ้น

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า 2.เร่งทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมที่ยากแก่การทำให้สังคมในวงกว้างเข้าใจและยากที่จะทำให้เกิดขึ้น จึงจะให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์เรื่องของการสร้างเด็กให้มีทักษะในการคิดวิเคาะห์ การจัดการเรียนการสอนในโลกดิจิตอล และการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดใหม่ โดยจะให้มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้นี้พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสาธิตการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และ 3.การพัฒนาการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการพัฒนาเนื้อหาที่จะนำมาใช้กับพีซี โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต มือถือ และในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีเพื่อการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้ ศธ.ปรับเรื่องการประกันคุณภาพระดับประถมศึกษา ดังนั้น ในนโยบาย ศธ.8 ข้อนั้น ต้องไปดูว่าจะทำยังไง คิดให้ตรงจุด อย่าไปคิดเรื่องตามหลัง เรื่องประถมฯ เราตามหลัง ลาว กัมพูชา ซึ่งหลักสูตรใหม่นี้จะต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง สอนแบบให้เด็กคิดได้เร็วมากกว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านการจัดการ ระบบการศึกษา วิจัย และพัฒนา แต่จุดอ่อนเวลานี้ ระบบการศึกษา เราจะพูดถึงระบบการศึกษาในระบบ เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องศึกษาวิจัยให้เห็นผล เช่น กรณีสาขาการแพทย์ ซึ่งเรียนในตำรา และปฏิบัติในโรงพยาบาล แล้วนำผลการตรวจเข้าศึกษาห้องวิจัย จึงทำให้แพทย์ไทยเก่ง ดังนั้น สาขาอื่นจึงต้องดูว่าทำไมโครงสร้างประชากรเปลี่ยน หรือขาดแคลน

การศึกษาจะต้องมีบทบาท ต้องร่วมกับภาคเอกชน และนำผลงานทางการศึกษาไปสนับสนุนภาคเอกชน และร่วมมือในการผลิตกำลังคน ที่คนไม่เรียนสายอาชีวะ หรือสายช่าง เพราะมีค่านิยมว่าจบปริญญาตรีเป็นระดับผู้บริหาร และการเข้าทำงานกับเอกชนก็ได้เงินเดือนจริงที่ 13,000 บาท ไม่ใช่ 15,000 บาทตามนโยบาลรัฐบาล ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ผู้ปกครองหรือเด็กมักมีนิยมเข้าเรียนสายช่าง เพราะได้รับการยอมรับ และได้เงินเดือนสูง ก้าวหน้ากว่า แต่คนไทยมีไม่กี่เปอร์เซ็นที่จบอาชีวะ” นายอาคม กล่าว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นการผลิตกำลังคนที่เน้นด้านฝีมือและประสบการณ์ และมีประสิทธิ์ภาพในการทำงาน จบแล้วทำงานได้จริง ตรงสาขา มีคุณธรรม ใฝ่รู้ตลอดเวลา และอยากเห็นการเรียนในโรงงาน ในสถานประกอบการ เพราะอุปกรณ์เครื่องมือตรงกับชีวิตจริงที่เด็กจะออกไปทำงาน และทำให้สถานประกอบการได้คนที่มีความรู้ตรงกับงาน และอยากให้ทำในลักษณะนี้แบบต่อเนื่อง ดังนั้น ทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจะต้องปรับในการผลิตกำลังคน และผู้ปกครองและเด็กจะต้องเปลี่ยนทัศนคติว่าเรียนแล้วมีงานทำ มีรายได้ดี มีฝีมือตรงกับวิชาชีพ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคน และภาครัฐจะต้องดูว่าจะช่วยสนับสนุนอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะผลงานด้านการวิจัยที่ภาคเอกชนยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นจึงควรจะสนับสนุน ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าหลายประเภท มีภาคบริการที่ใหญ่มาก เช่น การผลิตอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องดูว่าประเทศมีความต้องการทรัพยากรด้านใดบ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น